หลังจากที่หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอเรื่องราวความพยายามในการขับเคลื่อนคลองไทย ของภาคประชาชนและของคณะกรรมาธิการวิสามัญในการศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎรในชุดปัจจุบัน ที่ ดร.สุเมต สุวรรณพรหม เรียบเรียงข้อมูลให้ ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากท่านผู้อ่านเป็นอย่างมาก
ฉบับนี้ จึงได้ไปค้นเอกสารซึ่งเป็นรายงานผลการศึกษาของวุฒิสภา ซึ่งได้เคยตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระวุฒิสภาเมื่อปีพุทธศักราช 2548 ถือเป็นรายงานผลการศึกษาที่เป็นทางการ ของทางราชการ และมีความสมบูรณ์มากที่สุดในการศึกษาเรื่องคอคอดกระหรือคลองไทย ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ ผลการศึกษาในครั้งนั้นได้ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมวุฒิสภาอย่างเป็นเอกฉันท์และส่งต่อไปให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของวุฒิสภา
ฉบับวันนี้ จึงขอนำผลการศึกษา คลองไทย ของวุฒิสภา ในปี 2548 มาเล่าสู่กันฟังโดยการศึกษาในครั้งนั้น ผู้นำ รายการขับเคลื่อนโครงการคลองไทยคือ นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ซึ่งต่อมา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ
นายคํานวณ ชโลปถัมภ์ ได้เล่าว่าการศึกษาโครงการขุดคอคอดกระในขณะนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมากที่สำคัญคือสมาชิกวุฒิสภาแทบจะทุกคนได้ให้ความสนใจ อย่างต่อเนื่องหลังการศึกษาแล้วเสร็จ โครงการคลองไทยได้มีข้อคิดในการเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากการค้นคว้าทางวิชาการประสบการณ์จากการศึกษาดูงานต่างประเทศและในประเทศโดยได้ลงไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่และให้ความรู้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภาในสมัยนั้นได้มีการยึดหลักปรัชญาเป็นแนวคิดที่สำคัญ 5 ประการ กล่าวคือ
ข้อ 1 จะต้องทำการศึกษาอย่างถ่องแท้ถึงผลได้และผลเสีย
ข้อ 2 ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบในทุกๆ ด้าน
ข้อ 3 คำนึงถึงประชาชนและคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตว่าจะได้รับประโยชน์แค่ไหนเพียงใด
ข้อ 4 ถ้าต่างประเทศมาร่วมลงทุนจะต้องคำนึงว่าอย่าให้ประเทศไทยเสียเปรียบ
ข้อ 5 แร่ธาตุในดินที่ขุดจากคลองไทยต้องเป็นของรัฐ
จากปรัชญาสำคัญทั้ง 5 ประการนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ยึดถือเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาข้อเท็จจริงของโครงการคลองไทยเพื่อกู้เศรษฐกิจชาติ นอกจากนั้น
ได้คำนึงถึงคำแนะนำของพลเอกเปรมติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและนายกรัฐมนตรีซึ่งกล่าวไว้ว่า “..เราได้แต่คิดๆ แล้วพูดๆ และประชุม สัมมนาจนเอกสารกองเป็นตั้งเช่นโครงการคอคอดกระก็ได้แต่พูดยังไม่เห็นใครคิดทำอะไร..”
ดร.สุเมต สุวรรณพรหม รองประธานมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ ซึ่งติดตามการศึกษาคลองไทย ในขณะนั้นอย่างใกล้ชิด ได้กล่าวว่าในที่สุดการศึกษาเรื่องคอคอดกระ ของวุฒิสภาก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์อย่างเรียบร้อย
โดย ขอสรุปสาระสำคัญ ที่อยากจะกล่าวเอาไว้คือ สมาชิกวุฒิสภา ได้ตัดสินใจย้ายแนวการขุดคลอง จากแนวเดิมบริเวณคอคอดกระ จาก อำเภอกระบุรี จังหวัดระนองฝั่งอันดามัน ถึงอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรด้วยเหตุผลว่า ถ้าเราขุดคลองไปฝั่งระนองนั้นอีกฝั่งหนึ่งของคลองจะเป็นดินแดนพม่า อีกทั้งแม่น้ำกระบุรี ก็ค่อนข้างแคบ การขยายคลอง ในฝั่งพม่า คงจะมีอุปสรรค กับโครงการอย่างแน่นอน
จึงย้ายแนวคลอง ไปอยู่บริเวณแนวจังหวัดตรัง กระบี่ พัทลุง นครศรีธรรมราช ไปออกฝั่งอ่าวไทยที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาและเปลี่ยนชื่อ เรียกว่า คลองไทย แทนคำว่า คอคอดกระ
โดย พลอากาศเอกกานต์ สุระกุล สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตรัง เสนอให้เรียกชื่อแนวคลองไทยนี้ว่าแนว 9A
ที่ประชุมของวุฒิสภา ได้มีสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะสรุปว่าเห็นควรให้มีการขุดคลองไทยเพราะมีความเหมาะสมความคุ้มค่าและมีความเป็นไปได้แต่จะต้องมีการศึกษาขั้นสมบูรณ์ (Full Feasibility Study) อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อให้ลดผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านความมั่นคงของประเทศ โครงการขุดคอคอดกระหรือคลองไทยเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคงและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมามีบทบาทเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับโลก
อย่างไรก็ตาม การขุดคลองไทยจะต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญเป็นปรัชญาในการขุดครองจะต้องศึกษาในรายละเอียดขั้นสมบูรณ์อย่างถี่ถ้วนโดยตรวจสอบผลกระทบทุกๆด้านอย่างรอบคอบวางแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจนไม่ให้ประเทศชาติเสียเปรียบผู้ได้สัมปทานประชาชนในพื้นที่ คลองไทยผ่านจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและจะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการและต้องได้รับประโยชน์สามารถดำรงชีพอยู่ด้วยความมั่นคงมีเกียรติศักดิ์ศรีและมีวิชาชีพที่ถาวรยั่งยืนจากการพัฒนาและดำเนินงานของคลองไทยตลอดไป
รายงานผลการศึกษา ของวุฒิสภาปี 2548 ได้มีข้อสรุปและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 25 ข้อ แต่วันนี้จะขอนำประเด็นสำคัญ โดยสรุปได้มีข้อเสนอแนะดังนี้ คือ
สมควรขุดคลองไทยเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทยในมหาสมุทรแปซิฟิกในเส้นทาง 9A ระยะทางความยาวประมาณ 120 กิโลเมตรและให้เรียกเส้นทางการขุดคลองนี้ว่าคลองไทยแทนคำว่าคลองคอคอดกระเดิมลักษณะ คลองเป็นแบบ 2 คลองคู่ขนาน ความกว้างประมาณคลองละ 350 เมตร ระดับน้ำของ 2 ฝั่งทะเลต่างกันประมาณ 25 เซนติเมตร จึงเป็นคลองในระดับน้ำทะเลไม่ต้องสร้างประตูน้ำการขุดคลองสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อความรวดเร็วในการขุดแต่ไม่สมควรขุดโดยใช้พลังงานปรมาณู
ควรกำหนดกรอบข้อกำหนด TOR ในการพัฒนาโครงการ ที่เป็นธรรมกับผู้รับสัมปทานและประเทศไทยในฐานะเจ้าของคลองไทย และกำหนดแนวให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 บริเวณคือ
1.บริเวณอำเภอสิเกา จังหวัดตรังและอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พื้นที่ประมาณ 400 ตร.กม.
2.บริเวณอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอรัษฎาและอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง พื้นที่ประมาณ400 ตร.กม.
3.บริเวณ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พื้นที่ประมาณ 600 ตร.กม.
รายงานสรุปผลการศึกษารายละเอียดทั้ง 25 ข้อที่วุฒิสภา ได้สรุปเสนอรัฐบาลในขณะนั้นมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากๆ เสียดายว่าพื้นที่มีจำกัดต้องเก็บไว้เขียนในโอกาสต่อไป ดร.สุเมต เผยว่า ในทัศนะส่วนตัว โครงการคลองไทยถ้าไม่ดีจริงๆ ประชาชนชาวไทยและชาวโลก เขาคงเลิกคิดกันไปนานแล้ว แต่ที่ยังพูดกันยังเรียกร้องแสดงว่าคลองไทย ต้องมีสิ่งที่ดีมากๆอย่างแน่นอน
ถึงวันนี้มีคำพูดว่าเพียงแค่ นายกรัฐมนตรีของไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทย มีความสนใจที่จะดำเนินการโครงการคลองไทยเพียงแค่นี้ ก็สะเทือน
ทั้งโลก ปฏิบัติการจะเกิดขึ้น ได้ลุ้นว่าเงินลงทุนจากทั่วโลก ก็จะหลั่งไหล เข้าสู่ประเทศไทยของเราจนเราจะมีเงินใช้หนี้ที่มีอยู่หมดภายใน 3-4 ปี ก็ต้องรอกันนะครับว่าจะมีรัฐบาลไทย ผู้นำไทยยุคไหนที่กล้าแสดงวิสัยทัศน์ สร้างคลองไทย เพื่อสร้างอนาคตให้ประเทศไทย และกำหนดอนาคตเศรษฐกิจของโลกขอให้กำลังใจ ให้ได้สร้างคลองไทยกันชาตินี้ อย่าต้องให้รอกันถึงชาติหน้า