สกอ.จ่อใช้อำนาจ ม.86 พ.ร.บ.อุดมศึกษาเอกชน เชือดมหา’ลัยเอกชน จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน เคราะห์กรรม นศ.อาจต้องทำวิทยานิพนธ์ใหม่
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ได้มาตรฐานจำนวน 98 หลักสูตร ใน 10 มหาวิทยาลัย ซึ่งสกอ.ได้ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตามมาตรา (ม.) 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 มาดำเนินการเรียกข้อมูลกับทั้ง 10 มหาวิทยาลัยดังกล่าว ซึ่งพบว่า 9 มหาวิทยาลัยให้ความร่วมมืออย่างดี และดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำบ้างแล้ว มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังเพิกเฉย ซึ่ง สกอ.ได้รายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ แล้ว และในวันที่ 8 มี.ค.นี้ จะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ด กกอ.อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อไปว่า ถือว่าได้มีการใช้อำนาจตาม ม.44 ไปแล้ว ดังนั้นในการหารือร่วมกับ บอร์ด กกอ. ก็จะพิจารณาว่าต้องดำเนินการอย่างไรกับมหาวิทยาลัยเหล่านั้น เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหมด จึงอาจไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ในการบังคับก็ได้ เพราะ สกอ.มีกฎหมายที่จะดำเนินการกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชน คือมาตรา 86 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2)พ.ศ.2550 เว้นแต่กรณีบางมหาวิทยาลัยไม่ให้ความร่วมมือเลย ก็อาจจำเป็นต้องใช้อำนาจตาม ม.44 เข้าไปจัดการ
อย่างไรก็ดี ในข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามี 78 หลักสูตรที่เป็นหลักสูตรนอกที่ตั้ง โดย 90% มีปัญหาอาจารย์ประจำไม่เพียงพอ และวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจต้องเรียกนักศึกษากลับมาทำใหม่
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ