สพฐ.เปิด 10 ตัวชี้วัดประเมินผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติ ผอ.สถานศึกษา ตามหลักเกณฑ์ใหม่ เน้นผลเชิงประจักษ์-มีธรรมาภิบาล
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า ที่ประชุมได้รายงานถึงการรับสมัครคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ(ผอ.)สถานศึกษา สพฐ.ปี 2559 ซึ่งมีการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 18-24 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา และจะมีการสอบข้อเขียน วันที่ 3 ธ.ค. สอบสัมภาษณ์ วันที่ 4 ธ.ค.และประกาศผลการคัดเลือก วันที่ 9 ธ.ค.โดยผู้บริหารที่ได้รับการคัดเลือกเป็น ผอ.สถานศึกษา จะปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 23 ธ.ค.2559 นี้
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องได้รับการพัฒนาก่อนบรรจุแต่งตั้ง60ชั่วโมง และต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ในการทำงานแบบเข้ม 1 ปี หรือ 6 เดือนครั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้ดำเนินการคัดเลือกเนื้อหาใส่ในระบบทีอีพีอี ออนไลน์ อาทิ การเขียนแผน การพัฒนา ขณะเดียวกัน ได้จัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานของ ผอ.สถานศึกษาใน 10 ตัวชี้วัด ดังนี้
1.ความสามารถในการอ่านเขียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย
2.ผลงานหรือรางวัลที่ได้เกิดจากการบริหารจัดการของผู้ บริหารสถานศึกษา
3.ผลการเรียนรู้เฉลี่ย 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้
4.การบริหารงบประมาณและการระดมทรัพยากรและการลงทุนจากภาคีเครือข่าย หรือภาคประชาสังคมเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
5.การส่งเสริมให้ครูและบุคลากรได้รับการพัฒนาทางวิชาชีพ
6.การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล
7.การมีส่วนร่วมของสถานศึกษากับผู้ปกครองและชุมชน
8.อัตราการเกณฑ์เด็กเข้าเรียนหรือการรับนักเรียนตามแผนการรับนักเรียน
9.อัตราการศึกษาต่อของนักเรียน
และ 10.ผลการดำเนินการตามนโยบายของ ศธ.
“การประเมินเชิงประจักษ์นี้จะมีทีมประเมินเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกเป็นทีมโคชชิ่ง ซึ่งมอบให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่มาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และชุดที่ 2 เป็นคณะกรรมการ ที่จะทำหน้าที่ประเมินผล ซึ่งเชื่อมั่นว่าหลักเกณฑ์การคัดเลือก ผอ.สถานศึกษาใหม่ นี้จะเป็นการกลั่นกรองให้เราได้คนที่ตั้งใจจริง มุ่งมั่นพร้อมจะฝ่าด่านปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ”เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
สำหรับผู้สมัครคัดเลือกเป็น ผอ.สถานศึกษาปี 2559 ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 76จังหวัด มีผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 9,508 คน เป็นประถมศึกษา 9,320 คน มัธยมศึกษา 96 คน การศึกษาพิเศษ 92 คน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ