เผยเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากอย. พร้อมรอปลูกใน 1 เดือนข้างหน้า ด้วยสายพันธุ์ดั้งเดิมของสกลนคร -หางกระรอกภูพาน ปลูกได้ปีละ 2 รอบ 2 ตันส่งต่อรพ.พระอาจารย์ฝั้นสกัดเป็นยา เป็นโมเดลครบวงจร ปลูก ผลิต รักษา วิจัยทั้งแผนไทย-ปัจจุบัน
รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวในพิธีเปิดโครงการวิจัยการศึกษาปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย กิจกรรมเพาะเมล็ดพันธุ์กัญชาสายพันธุ์หางกระรอกภูพาน ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเปิดให้เยี่ยมชมพื้นที่ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท5เป็นครั้งแรก เป็นการภายในเฉพาะบุคลากรและนักศึกษา มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ก่อนที่จะปิดและควบคุมจัดมาตรฐานเพื่อเตรียมความพร้อมรอการปลูกอย่างเป็นทางการในอีก 1 เดือนข้างหน้าจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านกัญชาระดับประเทศ
รศ.ดร.โฆษิต กล่าวว่า ภายในโรงเรือนปลูกกัญชาจะมีขนาด13×50เมตร จำนวน 7 โรงเรือน มีการติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ เพื่อควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการเพาะเมล็ดพันธุ์กัญชาสายพันธุ์หางกระรอกภูพานเพื่อประโยชน์การแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายนอกจะเป็นกำแพงสูง 3 เมตร 3 ชั้น ปลูกในที่รั้วรอบขอบชิด มีกล้องวงจรปิด มีระบบสแกนลายนิ้วมือเข้าและออกได้เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง และตนได้นำข้อมูลที่มีทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภา มทร.อีสาน ในเรื่องการปลูกกัญชาทางการแพทย์ดังกล่าว และทางสภามหาวิทยาลัย ก็รับทราบเส้นทางในการพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์ทั้งหมดและพร้อมสนับสนุนการทำงานที่สร้างประโยชน์ให้คนในประเทศและทั่วโลก
ทั้งนี้ รับรองได้ว่า มทร.อีสาน จะมีกระบวนการทุกอย่างที่ถูกกฎหมายและทำอย่างรัดกุมร่วมกับฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัย ดังนั้น การปลูกกัญชาของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างแน่นอน เนื่องจากราชมงคลสกลนครได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย เป็นใบแรก ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ที่มีการมอบให้ผู้มีสิทธิ์ปลูกเท่านั้น โดยทำตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมาย
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ภาคีเครือข่ายเชื่อว่า ราชมงคลสกลนครจะมีกระบวนการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ที่รัดกุม ตั้งแต่ปลูก ดูแล ขนส่ง จนถึงการสกัดมาเป็นยาเพื่อการรักษาโรคถูกต้องทุกขั้นตอน สำหรับการเพาะพันธุ์ต้นกล้ากัญชาสายพันธุ์หางกระรอกภูพานเพื่อรอปลูก เมื่อเพาะพันธุ์ครบกำหนด 1 เดือน จึงจะย้ายมาปลูกในถุงพลาสติก ขนาด 80×80 เซนติเมตร โดยปลูกในวัสดุปลูกที่ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง เพื่อที่จะได้กัญชาที่มีคุณภาพทางการแพทย์ ต่อจากนี้จะมีการศึกษาวิจัย ทั้งในเรื่องของการสกัดเป็นยา และจากนี้อีก 1 เดือน เมื่อเมล็ดพันธุ์งอกเป็นต้นอ่อนออกมา การปลูกกัญชาก็จะเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยแต่ละปีจะปลูกกัญชา 2 รอบ ซึ่งจะได้กัญชาน้ำหนักประมาณ2 ตัน ทาง มทร.อีสาน จะไม่ได้สกัดหรือผลิตเอง แต่จะส่งต่อไปที่ รพ.พระอาจารย์ฝั้น สกัดออกมาเป็นยาต่อไป
รศ.ดร.โฆษิต กล่าวต่อว่า ต้นกัญชาสายพันธ์หางกระรอกภูพานเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของชาวจังหวัดสกลนคร มีคุณสมบัติเป็นสารออกฤทธิ์ทางยาสูง สามารถประกอบในการรักษาโรคมะเร็งได้ ตามการบันทึกตำรับยาของหลวงพรหมพิทักษ์ที่ถวายเป็นตำรับยาหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น เราจะประกาศเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ในการรักษาแบบแผนโบราณควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบัน โดย มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร มีการจัดการเรียนสอนและมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทยและทางด้านเกษตรอยู่แล้ว เราสามารถปลูกและใช้ประโยชน์ได้อย่างสำเร็จแน่นอน เพราะเรามีโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท อยู่แล้ว จึงถือว่าเป็นการดำเนินการแบบครบวงจร เป็นโมเดลของประเทศ โดย มทร.อีสานจะระดมนักวิชาการและอาจารย์ทั้ง 11 คณะ ร่วมวิจัยและพัฒนาแบบครบวงจรอย่างยั่งยืนตามนโยบาย ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ