</p>
เรียนรู้ที่”พ่อ”ทำ..อย่าจำเพียงจำนวน
ตามรอยพระราชา 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิต
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่ร่วมมือ เปิดตัวหนังสือเดินทาง ตามรอยพระราชา 9 เล่ม 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิต ตามรอยศาสตร์พระราชา โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานที่ปรึกษาโครงการหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ในหลวงในใจคน เราจะสร้างเด็กไทยให้ เก่ง ดี มีคุณธรรมอย่างไร”
ดร.สุเมธ กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 สอนให้รู้จักชีวิตเพราะการเรียนหนังสือก็ให้มีชีวิต แต่เหมือนเดินตามฝรั่งสอนให้ร่ำรวย เอาประโยชน์สูงสุด แต่สุดท้ายไม่รู้จักบริหารชีวิต ในหลวงสอนให้รู้จักบริหารสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เป็นประโยชน์ ซึ่งสิ่งที่ในหลวงสอนก็ทรงทำให้ดูก่อน ก่อให้เกิดบทเรียนมากมาย เวลานี้เราพูดถึงโครงการของในหลวง 4,700 โครงการ ซึ่งไม่อยากให้สนใจว่ามีโครงการเท่าไหร่ แต่อยากให้สนใจว่าโครงการสอนอะไร สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้และเข้าใจสำคัญกว่าชีวิต เพื่อเหลือให้กับคนรุ่นต่อไป
“…ในหลวงสอนมา 70 ปี และตนได้เรียนตรงกับพระองค์ท่าน 35 ปี ไม่มีทีท่าว่าจะจบ แต่มหาบรมครูของผมหยุดสอนแล้ว ซึ่งประเทศไทยถ้าใส่ใจกันสักนิดเรารู้พอแล้ว แหล่งเรียนรู้ต่างๆเป็นสื่อให้เข้าใจ เข้าถึง และจบลงด้วยการพัฒนา
ทุกสิ่งที่ท่านทำคือเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไทย ในหลวงสอนหมดแล้ว และสอนด้วยการกระทำ
…จึงหวังว่าหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ทำให้ประชาชนเข้าใจสิ่งที่ท่านสอนและนำมาปฏิบัติ เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กและผู้ใหญ่ลงมือทำสักที เพื่อรักษาให้ไปถึงรุ่นลูกหลานจนเกิดเป็นความยั่งยืน และยินดีที่บริษัทไอบีเอ็ม ร่วมสนับสนุนการทำแอพลิเคชั่นในยุคสื่อไอที เพื่อให้คนได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น…”ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้แทนคณะทำงานหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา นักวิชาการ สสค. กล่าวถึงหนังสือตามรอยพระราชา มีเป้าหมายส่งเสริมให้เยาวชน “เข้าใจและเข้าถึง” ศาสตร์ของพระราชาที่ร่วมสมัย จากประสบการณ์จริงในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยจัดทำเป็นคู่มือการเดินทางสำหรับเยาวชน ครอบครัวและสถานศึกษา เพื่อให้เกิดพลังแห่งการเรียนรู้ และเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
ด้าน ผอ.เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า สาระที่ได้รับจากสื่อหนังสือ และกิจกรรมตามรอยพระราชา จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ครบ 3H คือ เรียนรู้ด้วยสมอง (Head) เรียนรู้ด้วยหัวใจ (Heart) และเรียนรู้จากการลงมือทำ (Hand) รวมทั้งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์จากการเดินทางไปเรียนรู้ยังสถานที่จริง อีกทั้งยังสอดแทรกเนื้อหาส่งเสริมคุณธรรม ได้แก่ ทศพิธราชธรรม และคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ
สำหรับ “หนังสือตามรอยพระราชา” ก่อนหน้านี้ได้เปิดไปแล้ว 4 เส้นทาง และครั้งนี้เป็นการเปิดตัวเพิ่มอีก 5 เส้นทาง รวม 9 เล่ม 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ โดยกระทรวงศึกษาธิการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ สสส. ร่วมสนับสนุนการจัดพิมพ์ รวมทั้งสิ้น 190,000 ชุด เพื่อกระจายในโรงเรียน เครือข่ายการศึกษาและจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถติดต่อรับหนังสือได้ที่ www.QLF.or.th
ทั้งนี้ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้ร่วมพัฒนาเป็นรูปแบบ E-Book เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงหนังสือตามรอยพระราชาทั้ง 9 เล่ม 9 เส้นทางได้ พร้อมกับมีลูกเล่นผ่านตัวการ์ตูนเคลื่อนไหว เพื่อให้เด็กและเยาวชนสนุกกับการเรียนรู้ และในขั้นต่อไปจะพัฒนาเป็นรูปแบบแอพลิเคชั่น เพื่อให้สามารถเช็คอินในสถานที่แหล่งเรียนรู้ รวมถึงการมองเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชน เพื่อแนะนำเส้นทางเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ ปั้มน้ำมัน และร้านอาหาร เพื่อให้ครบวงจรสำหรับครอบครัว หรือสถานศึกษาในการวางแผนการเดินทาง
สำหรับ 5 เส้นทางใหม่มีดังนี้
เส้นทางภาคเหนือตอนล่าง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ การจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด จ.ตาก
เส้นทางภาคอีสานตอนบน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร
เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มหาชีวาลัยอีสาน จ.บุรีรัมย์
เส้นทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก โครงการหมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย บ้านทุ่งรัก จ.พังงา
และเส้นทางภาคกลาง โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ จ.สมุทรปราการ
…เป็นพื้นที่สีเขียว ปอดขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของในหลวง ร.9 เมื่อครั้งทรงประทับเฮลิคอปเตอร์ ผ่านพื้นที่สีเขียวของคุ้งบางกะเจ้า ทรงอยากรักษาพื้นที่นี้ไว้ให้เป็นปอดขนาดใหญ่ของคนเมือง
ปัจจุบันต้นไม้ในคุ้งบางกะเจ้า ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,000 ตันต่อปี
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ