“ป๋า คือ ศรัทธาของผม คือ วีรบุรุษคนดีในดวงใจของผม ท่านจะสอนเสมอว่า เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และผมจะจดจำไว้ชั่วชีวิตของผม”
***************************************
99 ปี ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ลาจากไป พร้อมกับเรื่องราวมากมายที่กล่าวถึงตัวท่าน ซึ่ง “ชัชเดช” ศิษย์เก่าดนตรีไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นหนึ่งในนั้น ที่ได้เชิดชู พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นหนึ่งในวีรบุรุษคนดีในดวงใจ ด้วยเรื่องราวความประทับใจ จากนักศึกษาทุนมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สู่ผุ้ได้รับนามสกุล “เครือเปรม”
นายชัยเดช เครือเปรม (ชื่อ-สกุลเดิม อภิเชษฐ์ เครือจันทร์) เป็นศิษย์เก่าศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีไทย มรภ.สงขลา อดีตนักศึกษาทุนมูลนิธิพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ปัจจุบันประกอบอาชีพข้าราชการครู ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนบ้านนาใหญ่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจที่มีต่อ พลเอกเปรม
นับย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2553 ชัชเดชได้เข้าศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ต่อมาปี พ.ศ.2554 ทางมหาวิทยาลัยได้คัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้ารับทุนมูลนิธิพลเอก เปรมฯ ชัชเดชได้สมัครและได้รับพิจารณาคัดเลือกเป็นหนึ่งในนักศึกษาทุนของมูลนิธิฯ
ครั้งแรกที่ได้พบพล.อ.เปรม คือการได้ร่วมต้อนรับและส่งพล.อ.เปรม ที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ขณะเดินทางมาปฏิบัติภารกิจ ณ จ.สงขลา และต่อมาบ่อยครั้งที่ได้รับโอกาสไปต้อนรับป๋าที่บ้านติณสูลานนท์
ในขณะนั้น ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มรภ.สงขลา และประธานมูลนิธิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้เรียนเชิญป๋าเปรม มาแสดงปาฐกถาให้นักศึกษาฟัง
เขาจำได้ดีว่าครั้งแรกป๋าพูดในหัวข้อ “หนทางที่ควรไป” และได้สอนถึงการทำความดีของคนดี โดยยกหลักคำสอนสัปปุริสธรรม 7 คือ การเป็นผู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล เขายังจำได้ขึ้นใจ ส่วนครั้งที่สอง ป๋ามาปาฐกถาเรื่อง “การทำความดี และ การรักษาความดี”
ป๋าสอนว่าการทำความดีนั้นทำยาก แต่การรักษาความดีนั้นยากกว่า ซึ่งในครั้งนี้เองเขาได้รับคัดเลือกจาก ผศ.นิตยา ธัญญพาณิชย์ รองอธิการบดี มรภ.สงขลา (ในขณะนั้น) และรองประธานมูลนิธิฯ นักศึกษาเรียกท่านว่า “อาจารย์ยาย” ผู้อยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนส่งเสริมให้นักศึกษาทำความดีตามแบบป๋า และได้ให้เขาเป็นตัวแทนนักศึกษา ขึ้นกล่าวรายงานการทำความดี เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำความดี เหมือนมีพลังใจเกิดขึ้นอย่างอัศจรรย์
ด้วยคุณงามความดีที่ ป๋าเปรม ได้สร้างคุณูปการมากมายต่อผืนแผ่นดินไทย ทำให้ตัวเขาประทับใจอย่างยิ่ง ซึ่งเหตุการณ์ที่เคยเจอด้วยตัวเองคือ จากที่ได้มีโอกาสติดตามป๋าในการปฏิบัติภารกิจ ทำให้ได้เห็นคุณธรรมที่ปรากฏในทุกที่คือ “ความเมตตา”
ป๋ามีเมตตาต่อเด็กๆ ทุกคน มีครั้งหนึ่งป๋าเดินทางไปค่ายเยาวชนรักษ์พงไพรบ้านโตนงาช้าง เมื่อไปถึงมีเด็กนักเรียนผู้หญิงกล่าวรายงานกิจกรรมให้ป๋าฟัง แต่ด้วยความประหม่าตื่นเต้น ทำให้รายงานติดๆ ขัดๆ และหยุดชะงักไป ผู้ใหญ่หลายท่านลุ้นเอาใจช่วยนักเรียนไปตามๆ กัน
ท่ามกลางอากาศและแดดที่ร้อน แต่เมื่อหันไปมองใบหน้าของป๋า ท่านมองดูเด็กคนที่รายงานด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเปี่ยมด้วยเมตตา ป๋ายืนฟังจนนักเรียนรายงานและร้องเพลงจนจบ ปรบมือและชวนพูดคุยให้กำลังใจเด็กๆ นับเป็นเมตตาจากหัวใจของท่านจริงๆ ท่านจดจำชื่อคนและทักทายได้อย่างแม่นยำ และมักสอบถามความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้นอย่างใส่ใจทุกรายละเอียด
อีกเรื่องที่ได้สัมผัสคือ “ความจงรักภักดี” ครั้งหนึ่งตัวเขามีโอกาสได้เข้าพบป๋า และในเย็นวันนั้นท่านกำลังดูโทรทัศน์อยู่ เมื่อเพลงชาติไทยดังขึ้น ป๋าก็ลุกขึ้นยืนตรงหันหน้าไปทางห้องพระ ซึ่งมีรูปหล่อเคารพของสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ประดิษฐานอยู่ เมื่อเพลงจบท่านโค้งคำนับและนั่งตามเดิม ซึ่งหลายคนๆ เมื่ออยู่ในบ้านอันเป็นที่รโหฐาน น้อยคนนักที่จะลุกขึ้นยืนตรง และในขณะนั้นได้มีการเปิดเพลงในหลวงของแผ่นดินต่อจากเพลงชาติไทย
ท่านฟังด้วยความตั้งใจและพูดว่า “เพลงนี้คนไทยต้องร้องให้เป็น พระองค์ท่านมีบุญคุณมาก”
ครั้งหนึ่งเขาได้สนทนากับป๋า แต่เผลอพูดชื่อพระนามแบบสั้นๆ ป๋าบอกว่า “ต้องเรียกให้ถูกต้อง ให้สมพระเกียรติ” แล้วป๋าก็เอ่ยพระนามที่ถูกต้องให้ฟัง เรื่องบางเรื่องในบางครั้งเราอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร แต่สำหรับป๋าแล้วการถวายความจงรักภักดีคือสิ่งที่สำคัญสูงสุด ดังคำสอนและการปฏิบัติเป็นแบบอย่างประจักษ์ต่อสายตาคนไทยเสมอมา
ความประทับใจอีกอย่างคือ ทุกๆ คำสอนของป๋าจะเน้นแต่เรื่องการทำดี การเป็นคนดีของชาติบ้านเมือง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ป๋าสอนว่า การทำความดีต้องมีต้นแบบ สำหรับต้นแบบความดีของท่านคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าป๋าเปรมก็เป็นต้นแบบคนดีและความดีของใครอีกหลายๆ คน รวมถึงตัวเขาด้วย
เขารู้สึกโชคดีที่สุดในชีวิตที่ได้ใกล้ชิดกับคนดีของแผ่นดิน และมองว่า แม่ทัพอัศวิน..ย่อมสอนเพลงดาบ คนดี..ย่อมสร้างคนดีและสอนให้คนทำความดี สำหรับตัวเขาแล้วเชื่อมั่นศรัทธา และยกท่านเป็นวีรบุรุษในดวงใจ นอกจากคำสอนของท่านแล้ว ระยะเวลาได้พิสูจน์ถึงคุณงามความดีที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างมาตลอดชั่วชีวิต
ดังที่ท่านเคยปาฐกถาตอนหนึ่งไว้ว่า“การทำความดี สิ่งสำคัญของการกระทำความดี มันไม่จบอยู่แค่นั้น มันต้องต่อด้วยกับการรักษาความดีนั้นให้อยู่กับตัวเรา ไปจนตาย”
ท่ามกลางข่าวลือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรสำหรับรัฐบุรุษท่านนี้ ท่านสอนสั้นๆ ว่า “ไม่เป็นไร….ให้ทำหน้าที่ของเราไป” “การวิจารณ์เป็นเรื่องของเขา…หน้าที่ของเราทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน” นั่นย่อมสะท้อนถึงหัวใจแห่งความเมตตา ความเด็ดเดี่ยวมั่นคงในคุณธรรมความดีของท่าน
ใจของท่านแกร่งดังภูผาใหญ่ ที่ไม่สะท้านต่อแรงลม ท่านไม่ได้ใส่ใจสิ่งเหล่านั้น ท่านคิดแต่เรื่องความเป็นห่วงชาติบ้านเมือง การพัฒนาเด็กและเยาวชนในที่ต่างๆ ให้เป็นคนดี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บ้างก็สนับสนุนทุนการศึกษา ซึ่งสังเกตได้จากทุนการศึกษามูลนิธิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่กระจายเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
สิ่งนี้คือความตั้งใจของท่าน และแม้แต่โอกาสท้ายที่สุดของชีวิตท่านยังห่วงใยคนจน ห่วงใยชาติบ้านเมือง ดังที่มีข่าวประกาศต่อสาธารณะชนว่า ท่านได้มอบทรัพย์สินเงินเก็บของท่านทั้งหมดเพื่อประชาชน
ท่านอนุญาตให้เรียกว่า “ปู่” ซึ่งคงเปรียบเสมือนรุ่นหลานๆ ของท่าน ในช่วงแรกๆ ตัวเขาก็ไม่คุ้นชิน เพราะเรียกท่านว่า ป๋า มาตลอดตามที่ผู้ใหญ่และนักศึกษาทุนคนอื่นๆ เรียกกัน แต่มีครั้งหนึ่งได้เข้าไปคุยกับท่าน เขายังเรียกท่านว่าป๋าอีก ท่านหันมามองหน้าและบอกว่า “ให้เรียกปู่” คงเพราะด้วยความเป็นเด็กและช่วงวัยที่ห่างกับท่านมาก การเรียกปู่จะดูเหมาะสมใกล้ชิดและอบอุ่นกว่า เขาจึงเรียกท่านว่าปู่มาตลอด เหมือนพี่ๆ ในบ้านที่เรียกปู่กันทุกคน
รักษ์ภาษาใต้…เมื่อปู่สนทนากับคนใต้ ปู่ก็จะใช้ภาษาใต้ ถ้ามีคนไหนภูมิลำเนาเดิมหรือมาทำงานอยู่ในภาคใต้ ในสงขลา ใช้ภาษากลางพูดกับปู่ ท่านจะถามเป็นภาษาใต้ทันทีว่า “แหลงใต้ได้หม้าย” และถ้าคนพูดภาษาใต้ได้ ปู่จะบอกว่า “ให้แหลงใต้นะ” บางครั้งปู่แซวผู้ใหญ่ที่มาต้อนรับว่า “มาอยู่ใต้ ให้หัดแหลงใต้นะ”
ปู่เป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของชาติบ้านเมือง แต่สิ่งที่ปู่ทำตลอดและเป็นที่จดจำของคนทั่วไปอีกอย่างคือ ปู่จะยกมือไหว้และรับไหว้เสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งปู่มาบรรยายที่ มรภ.สงขลา ก่อนขึ้นรถกลับซึ่งตอนนั้นทุกคนมารอทำความเคารพอยู่ก่อนแล้ว แต่ท่านหันมาไหว้ทุกคนที่มายืนส่งท่านก่อน และบอกว่า “เรากลับก่อนนะ ขอบใจทุกคน” ทุกคนที่ยืนรีบไหว้กลับอย่างนอบน้อมทันที สิ่งนี้เป็นอีกความน่ารักของท่านที่ตราตรึงในความรู้สึกของทุกคน
วันหนึ่ง ปู่เขียนจดหมายส่งมาถึงเขา มีข้อความว่า “เชษฐ์ จงจำไว้ตลอดชีวิตว่า เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” นี่คือสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเด็กชนบทอย่างเขา เวลาที่เจอปู่ทุกครั้งหรือคำอวยพรในบัตรอวยพรปีใหม่ที่ท่านส่งมาให้ ท่านมักจะสอนย้ำว่า “ให้เป็นเด็กดี มีความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักประหยัด อดออมและอดทน” เมื่อได้อ่านจดหมายทุกฉบับที่ท่านส่งมาให้ เป็นเสมือนพลังใจที่คอยตอกย้ำและเตือนสติอยู่เสมอให้มุ่งกระทำแต่ความดี และต้องรักษาความดี แม้ในตอนนี้ท่านลาจากไปแล้ว แต่ความรู้สึกคือท่านคอยเป็นกำลังใจให้อยู่เสมอ
นอกเหนือจากเป็นนักศึกษาทุนมูลนิธิพลเอกเปรมฯ ในระดับปริญญาตรีแล้ว เขายังได้รับเมตตาจากท่าน สนับสนุนให้ทุนการศึกษาปริญญาโท เมื่อเรียนจบได้อุปสมบทเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ และเพื่อตอบแทนพระคุณของปู่เปรมที่เมตตาเสมอมา ซึ่งครั้งนั้นปู่ได้เมตตามอบผ้าไตรจีวรในการอุปสมบทให้ นับเป็นมงคลยิ่ง
ที่สำคัญ ปู่เมตตาตั้งนามสกุล “เครือเปรม” ให้แก่เขาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559 นับเป็นมรดกแห่งความดีอันสูงค่า เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิตของตนเองและครอบครัว ได้ก้าวเดินตามแบบอย่างคุณธรรมความดีที่ท่านได้สอนไว้ นามสกุลที่ปู่ตั้งไว้ อาทิ เปรมเกื้อกูล เปรมลิขิต เปรมยกย่อง เปรมอุดม ฯลฯ และนามสกุลของเขาคงเป็นนามสกุลสุดท้ายที่ปู่ได้ตั้งให้ ชื่อสกุล “เครือเปรม” ท่านให้ความหมายว่า “เชื้อสายสกุลของพลเอก เปรม”
เรื่องราวข้างต้นคงเป็นความรู้สึกที่บรรยายออกมาได้เพียงเล็กน้อย ในโอกาสที่ได้รับใช้ใกล้ชิดท่านในช่วงโอกาสและระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งคงมิอาจบรรยายความรู้สึกออกมาได้ทั้งหมด ผู้ที่ได้ใกล้ชิดท่านย่อมรับรู้ได้ว่าท่านเปี่ยมล้นด้วยเมตตาเต็มหัวใจ
“ป๋า คือ ศรัทธาของผม คือ วีรบุรุษคนดีในดวงใจของผม ท่านจะสอนเสมอว่า เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และผมจะจดจำไว้ชั่วชีวิตของผม”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ