วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยมีนายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด (ปส.กช.) พร้อมด้วย ประธาน ปส.กช.จังหวัดทั่วประเทศ เครือข่ายสมาคมการศึกษาเอกชนและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 120 คน เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในระบบ Zoom Cloud Meeting จากห้องทำงานเลขาธิการ กช. ชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ กล่าวว่า การประชุมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ดังนี้
1) นโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับวิธีการประเมินวิทยะฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยส่งเสริมการประเมินสมรรถนะที่เทียบเท่าวิทยะฐานะ และการขอมีใบประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง และนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมิน โดยบูรณาการการใช้งานระบบร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รวมถึงการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาครูในลักษณะ E-Learning ผ่าน Digital Platform
2) นโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง พัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) และจัดทำระบบเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือสมรรถนะ ของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ
3) พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ การพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบประเภทวิชาชีพ ให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพและระบบคุณวุฒิวิชาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ได้ การป้องกันยาเสพติดและความปลอดภัยในสถานศึกษา
4) เสริมสร้างทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นให้กับผู้เรียน โดยการส่งเสริมทักษะอาชีพ และการสร้าง Soft Power ให้กับผู้เรียน รวมถึงการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพและความถนัด ยกตัวอย่างเช่น ทักษะวิชาการ ค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ ทักษะภาษาจีน ทักษะด้านกีฬา การพัฒนาและแสดงศักยภาพตามความถนัด เป็นต้น
5) จัดให้มีระบบแนะแนวทางสำหรับผู้เรียน (Coaching) และจัดระบบวัดแววและความถนัดของผู้เรียนเป็นรายบุคคล (ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามพหุปัญญาของผู้เรียน
6) เน้นนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ STEM Education (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบ STEM Education และการพัฒนาการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติจริง และเสริมความสามารถด้าน Soft Skill ควบคูกับการพัฒนา เช่น Active Learning / Project-Based Learning / Problem-Based Learning
7) ประสานความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาสุขภาพจิตของผู้เรียน เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนให้สามารถอยู่ในสถานศึกษาได้อย่างมีความสุข โดยการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการคัดกรอง และส่งเสริมการใช้จิตวิทยาเชิงบวก การดูแลผู้เรียน
8) ปฏิรูปการศึกษาฯ (นโยบายการศึกษาที่แถลงต่อรัฐสภา (เฉพาะประเด็นที่เพิ่มเติม) โดยจัดทำร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. … เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายการศึกษาของชาติ และรองรับพลวัตการจัดการศึกษาในปัจจุบัน
9) การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ
และ 10) แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญ ของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้มีคุณภาพ
นอกจากนี้ นายมณฑลยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีประเด็นนโยบายที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัย และแนวทางการรายงานสถานการณ์อุทกภัยของโรงเรียนเอกชน โดยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ชี้แจงแนวทางการจัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดประชุม คณะกรรมการ ปส.กช.จังหวัด และการพัฒนาครูตามบริบทของพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสต่าง ๆ และขอให้สถานศึกษาเอกชนร่วมจัดกิจกรรม พร้อมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์กิจกรรมดัวกล่าวสู่สาธารณชนด้วย
“สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นี้ ก็จะพยายามสื่อสารกับชาวการศึกษาเอกชนให้ต่อเนื่องและทั่วถึง การจะทำให้โรงเรียนเอกชนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทำให้โลกได้ประจักษ์ว่าโรงเรียนเอกชนนั้น เป็นหนึ่งในโรงเรียนคุณภาพที่ดีที่สุดของประเทศ แค่เพียง สช.อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ห่กแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทั้ง ปส.กช.และเครือข่ายการศึกษาเอกชนจากทั่วทั้งประเทศ ในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” เลขาธิการ กช.กล่าวทิ้งท้าย