“บุญรักษ์”เผยเสียงแตก8สาระ-ชี้ระยะยาวเด็กต้องได้สิ่งที่ดีที่สุด
จากกรณีที่คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เสนอให้กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.(…) เรื่องการห้ามจัดสอบโดยเน้นสาระในระดับปฐมวัย ซึ่งรวมถึงการสอบคัดเลือก โดยให้มีการกำหนดบทลงโทษไว้ด้วยนั้น
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ไม่มีการสอบเข้าระดับอนุบาล และ ป.1 อยู่แล้ว ยกเว้นโปรแกรมพิเศษซึ่งเป็นการทดสอบสมรรถนะ ความพร้อมในการเรียน ส่วนการทดสอบนักเรียนก็เป็นเรื่องหลักวิชาการ ซึ่งจะมี 2 ส่วน คือ การประเมินระหว่างภาคโดยวิธีการหลากหลาย ทั้งการสัมภาษณ์ พูดคุย สังเกต ดูจากชิ้นงานหรือผลงาน เพื่อจะได้แก้ไขและพัฒนาเด็ก และอีกส่วนคือการสอบปลายภาคซึ่งเป็นการประเมินสรุปรวบยอดว่า เด็กเรียนแล้วได้อะไรไปบ้าง แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การประเมินระหว่างภาคมากกว่าการสอบปลายภาค
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องไม่เน้นให้เด็กระดับ ป.1-ป.3เรียนทั้ง 8กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ตอนนี้ต้องถามว่าหลายฝ่ายคิดตรงกันหรือยัง ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเสียงก็มีทั้งที่ไม่แน่ใจ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เด็กระดับนี้จะเน้นเรื่องอ่านออกเขียนได้ การคิดคำนวณ และทักษะพื้นฐานการใช้ชีวิต เพื่อเป็นการปูพื้นในการเรียนระดับที่สูงขึ้น ซึ่งหลายส่วนก็ทำกันแล้ว และตอนนี้โรงเรียนก็สามารถทำได้เลย เพราะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานประกาศให้ยืดหยุ่นได้ คือ โรงเรียนจะเพิ่มอะไรเป็นพิเศษ หรือ ลดอะไรก็ได้ ขึ้นกับว่าเด็กควรได้รับการเสริมหรือเพิ่มเติมอะไร เช่น เด็กบนพื้นที่สูง ควรได้รับการเพิ่มเติมภาษาไทย เพื่อให้สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ จากนั้นจึงมาเพิ่มวิชาอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้โรงเรียนสามารถทำได้และทำกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่าการประกาศยกเลิกการเรียน 8 กลุ่มสาระเป็นเรื่องของอนาคตแล้วแต่ กอปศ. แต่ สพฐ.ทำอยู่แล้ว
“ไม่ว่าจะปรับอย่างไรก็มีผลกระทบในระยะยาวแน่นอน เพราะฉะนั้นการที่หลายฝ่ายช่วยกันคิดถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่ง สพฐ.ยอมรับฟัง แต่ขณะเดียวกันฝ่ายที่คิดก็ต้องยอมรับฟังสียงคนอื่นด้วย เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก สังคม และประเทศชาติ”ดร.บุญรักษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ