สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในไทย เริ่มระบาดเพิ่มขึ้นทั้งวัยผู้ใหญ่และเด็กวัยเรียน โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ปี 2564 เด็กนักเรียนใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 เพิ่มจาก 13.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 14.7 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 3.3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8.1 เปอร์เซ็นต์
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นในสังคม” ณ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ 29 ส.ค. เพื่อเปิดเผยความจริงของบุหรี่ไฟฟ้า ปกป้องสุขภาพเด็ก เยาวชน ตั้งแต่ต้นทาง ดังที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศจุดยืน “ไทยไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ”
สำหรับความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ามีอยู่หลายมายาคติ คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน อีกทั้งยังมีกลิ่นรสจูงใจ สูบแล้วรู้สึกว่า ทันสมัย โดดเด่น เป็นที่สนใจในสายตาสังคม แต่ความจริงแล้วเป็นอย่างไรนั้น เสวนาวิชาการ เรื่อง ทลายมายาคติ : เลิกเชื่อเรื่องลวงมาฟังเรื่องจริง (Debunk e-cigarette myth: from lie to real) มีคำตอบ
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลข้างเคียงได้เร็ว รวมถึงส่งผลต่อร่างกายทั้งหลอดเลือด สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ ทั้งนี้ ในสัตว์ทดลองพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของถุงลมแบบเดียวกับที่พบโรคถุงลมโป่งพอง เป็นไปได้ว่า ถ้าสูบไปสักพักหนึ่งจะเกิดโรคเดียวกันกับบุหรี่มวน
“ส่วนความเชื่อที่ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เสพติดนั้น ไม่เป็นความจริงและอาจเสพติดมากกว่าบุหรี่มวนได้ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้เกิดโรคสมองติดยาแบบเดียวกับที่เกิดในเฮโรอีนและยาบ้าได้ ไม่เพียงแต่สารนิโคตินที่น่ากังวล แต่สารปรุงแต่งกลิ่นรส ก็ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดเช่นกัน การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ ไม่ใช่แพลตฟอร์มในการเลิกบุหรี่ เพราะผู้สูบจะเปลี่ยนจากการติดบุหรี่มวนมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) เปิดเผยถึงความเชื่อที่ว่าถ้าเปิดเสรีบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้ไม่มีบุหรี่ไฟฟ้าหนีภาษี ว่า ไม่จริง เพราะบุหรี่มวนที่เปิดให้ขายได้อย่างเสรี ก็ยังพบบุหรี่มวนหนีภาษี หากนำเข้าได้แล้วโดยปกติราคาจะสูงขึ้น เชื่อว่าคนจะไม่อยากสูบของแพง โดยเฉพาะผู้สูบเดิม ส่วนคนที่จะซื้อบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมายจะกลายเป็น นักสูบหน้าใหม่ อัตราการสูบก็จะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาว เพราะอัตราการสูบบุหรี่ที่โตเร็วที่สุดคือ จากอายุ 18 ปี เป็นอายุ 19 ปี ช่วงวัยที่จบจากมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าสู่มหาวิทยาลัย จึงเกิดคำถามว่า การแสวงหารายได้จากภาษีหรือการหาเงินจากเยาวชน มันถูกต้องแล้วหรือ อีกทั้งความเชื่อที่ว่า เปิดเสรีแล้วทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือรายรับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ต้องเข้าใจว่า ไม่ได้เกี่ยวกับรายได้ประชาชาติ เป็นรายรับภาษีที่อาจจะดีขึ้นได้แต่เป็นการขายให้เยาวชน นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ได้ใช้ยาเส้นแบบบุหรี่มวน จะเกิดผลกระทบต่อรายได้ของชาวไร่ยาสูบที่ลดน้อยลงด้วย
ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมว่า มายาคติที่ว่า การนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดินทำให้ถูกกฎหมายแล้วจะควบคุมได้ง่ายขึ้น จำนวนผู้สูบจะลดน้อยลงนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะบุหรี่มวนที่ถูกกฎหมายยังมีบุหรี่เถื่อน เป็นการกล่าวอ้าง ส่วนความคิดที่ว่า มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของสหราชอาณาจักรหรือสหรัฐฯ ดีกว่าของประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่า บริบทของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน มีนโยบายควบคุมที่แตกต่างกัน อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติยอมรับต่อ องค์การอาหารและยา (อย.) สหรัฐฯ ว่า ไอคอส (IQOS) มีอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนไปใช้แล้วจะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อโรคภัย
ขณะที่ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล คณะกรรมการกำกับทิศทางศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมยาสูบ เพิ่มเติมว่าผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) เรื่องการปรุงแต่งสีและกลิ่น พบว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีมากกว่า 8,000 รสชาติที่วางขาย แต่ละรสชาติส่งผลกระทบต่อสุขภาพแตกต่างกันไป ยังมีงานวิจัยอีกว่า บุหรี่ไฟฟ้าไอคอสมีสารเคมีอย่างน้อย 56 ชนิดสูงกว่าควันบุหรี่มวน
“ยุคนี้การตลาดแยบยล บุหรี่ควันแบบเดิมตลาดเล็กลง จึงคิดค้นบุหรี่ไฟฟ้าทดแทนแบบเดิม ภาพลักษณ์ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าดูดีกว่าบุหรี่มวน ส่วนกลิ่นก็คิดว่า มีควันหอมไม่รบกวนคนอื่น แต่จริง ๆ แล้วเป็นสารอันตรายที่แต่งกลิ่นรส คนที่คิดว่าการสูบบุหรี่เป็นสิทธิเสรีภาพไปปิดกั้นทำไม เรื่องนี้เป็นสิทธิเสรีภาพก็จริง แต่พิษภัยของควันกระทบคนรอบข้าง ควันมือสอง สิทธิเสรีภาพมีข้อจำกัดที่ต้องระมัดระวังเช่นกัน” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org