ที่จริงสภาล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เพราะวันศุกร์ ส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่
โดยประเพณีปฏิบัติ สภาผู้แทนฯ จะมีการประชุมวัน พุธ กับ พฤหัสบดี
เมื่อเพิ่มวันศุกร์ขึ้นมา บวกกับใกล้เลือกตั้ง ผลก็อย่างที่่เห็น
ฟังที่ ส.ส.พูดกันในที่ประชุมก็มีเหตุผลอยู่บ้างเหมือนกัน
ส.ส.ติดภารกิจงานบุญ งานกฐิน
บ้างก็เสนอว่าควรงดการประชุม เพราะปลายสมัยแล้ว
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีทำท่าเหมือนจะยุบไม่ยุบ ส.ส.เลยเป็นห่วงพื้นที่เลือกตั้งของตัวเอง โดยเฉพาะ ส.ส.หน้าใหม่
ก็รับฟังไว้
แต่จะเอามาเป็นเหตุผลไม่ประชุมสภาไม่ได้
เมื่อวางกติกาไว้อย่างไร สภาต้องปฏิบัติให้ได้ หากเห็นว่ากติกามีปัญหา ปฏิบัติไม่ได้ ไม่เข้ากับสถานการณ์ ก็ควรยกเลิก ไม่ใช่ใช้วิธีหนีไปดื้อๆ
งานหลักของ ส.ส.คืองานในสภา
ส.ส.กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ก็เพื่อทำงานในสภา
ประชาชนไม่ได้จ้าง ส.ส.เดินสายงานศพ งานแต่ง งานบวช
สภาผู้แทนฯ เป็นองค์กรระดับชาติ แต่คนในองค์กรกลับมีพฤติกรรมไม่ให้คุณค่าในงานที่ตัวเองทำ แล้วจะไปสอนเด็กๆ ให้มีความรับผิดชอบในงานที่ทำได้อย่างไร
หลังจากนี้การประชุมสภาในวันศุกร์จะล่มทุกครั้งไป
จะว่าไปแล้ว พุธ กับ พฤหัสบดี ก็ยังลูกผีลูกคน พร้อมที่จะล่มได้ทุกเมื่้อเหมือนกัน
ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ส.ส.ลงพื้นที่ไปหาเสียง
แล้วมีหน้าที่อะไร เสนอกฎหมาย พิจารณากฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไป ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี
นั่นคือหน้าที่หลักตามรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส.ละเลยมิได้
แต่วันนี้สภาล่ม ส.ส.ไม่อยู่ทำหน้าที่ด้วยเหตุผลใกล้เลือกตั้งแล้วต้องไปหาเสียง
เหมือนจะน่าเห็นใจ แต่ ส.ส.ที่โดดประชุมต้องถูกตำหนิ อย่างน้อยๆ ก็เป็นการเอาเปรียบ ส.ส.ที่เข้าประชุม
ก็แปลก เวลาไม่มีสภา ไม่มีเวทีให้เล่น ก็เอาแต่โอดครวญ ประเทศต้องมีประชาธิปไตย ต้องมีผู้แทนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
แต่พอมีสภา กลับไม่อยู่ประชุม อ้างต้องไปเตรียมตัว รับมือการเลือกตั้ง
อายุสภาเหลืออีกแค่ ๔ เดือนกว่า การเลือกตั้งตามไทม์ไลน์ก็ค่อนข้างชัดเจน กกต.กำหนดเป็นวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖
ฉะนั้นในแง่ของการเตรียมตัว การได้เปรียบเสียเปรียบ ขึ้นกับการวางแผนของแต่ละคน
ไม่ควรมองการประชุมสภาเป็นภาระ หรือปัญหาสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง
วันนี้หลายอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป
พรรคร่วมรัฐบาลเปิดศึกกันเอง สาเหตุเพราะใกล้เลือกตั้ง
กรณี ประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย คือตัวอย่าง
ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตัวเองมีเหตุผล
แต่ลึกๆ คือการฟาดฟันกันในสนามเลือกตั้งจังหวัดภาคใต้ ที่นับวันพรรคร่วมรัฐบาล ๒ พรรคนี้จะหวดกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ประชาธิปัตย์ เสียฐานภาคใต้ไม่ได้อีกแล้ว
เพราะหากเสียไปจะกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของพรรคในทันที เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มที่นั่ง ส.ส.ในภาคอื่นได้
ขณะที่ภูมิใจไทย รุกคืบขอแบ่งเค้กภาคใต้เพิ่ม ลึกๆ แล้วคาดหวังเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนกัน
แต่…ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร หาก ๒ พรรคนี้ได้ร่วมรัฐบาลอีกครั้ง ศึกจะสงบชั่วคราว จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งถัดไป
หากต้องอยู่คนละขั้ว ในสภาสนุกครับ
เพราะนี่คือการเมือง
ครับ…ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในเวที Oslo Freedom Forum in Taiwan: Champion of Change ที่กรุงไทเป ไต้หวัน มันมีประเด็นบางตอนให้ต้องพูดถึง
“…นับตั้งแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ ผ่านมา ๙๐ ปีประเทศไทยยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ โดยประเด็นที่เป็นใจกลางหลักของความขัดแย้งเสมอ คือคำถามว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของใครกันแน่ ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ หรือว่าประชาชน?
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำพาประเทศไทยไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศจีนมากขึ้น ทั้งในทางการทูต เศรษฐกิจ และการทหาร นำมาสู่การส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กว่า ๑๐๐ ชีวิตไปให้จีนในปี ๒๕๕๘ ท่ามกลางคำเตือนจากประชาคมโลกว่าชาวอุยกูร์เหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย และคำขอร้องให้มีการส่งตัวพวกเขาไปสู่ประเทศที่สาม
ถ้าไม่มีการรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ ชาวอุยกูร์กว่า ๑๐๐ ชีวิต น่าจะได้มีชีวิตอยู่ในประเทศเสรีไปแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาก็เช่นกัน การรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นำมาสู่การปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนกว่า ๑,๗๑๙ ชีวิต และการจับกุมคุมขังประชาชนกว่า ๙,๙๘๔ คน และยังนำมาสู่คลื่นผู้ลี้ภัยที่พยายามเข้ามาประเทศไทย ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะโอบรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้
ความเลวร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? คำตอบอยู่ที่การให้สัมภาษณ์ของ มิน อ่อง หล่ายน์ กับสำนักข่าว Nikkei Asia เราทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ มิน อ่อง หล่ายน์ มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกันมาอย่างยาวนานแล้ว และสิ่งนี้ก็ได้รับการยืนยันในคำพูดของ มิน อ่อง หล่ายน์ ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเขา ‘จะก่อรัฐประหารได้ก็ต่อเมื่อมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเท่านั้น’
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราสูญเสียประชาธิปไตย
และหากเราสามารถหยุดยั้งการรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ ได้สำเร็จ วันนี้ก็คงไม่ต้องมีใครถูกจองจำอยู่ในคุก เพียงเพราะการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และการเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่านี้ของประเทศ
เมื่อเราสูญเสียประชาธิปไตยไป มันใช้เวลานานในการกอบกู้ แต่ปีหน้าเราจะมีเลือกตั้ง นี่คือโอกาสสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โอกาสสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งธรรมดา ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคหนึ่งไปสู่อีกพรรคหนึ่ง แต่คือการจบระบอบประยุทธ์ ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ เชื่ออีกครั้งว่าประเทศนี้เป็นของเราทุกคน
โปรดยืนเคียงข้างเราในการต่อสู้ครั้งนี้ เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค และความสมานฉันท์ของโลกสากล…”
ตกลง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบเรื่อง อุยกูร์ เมียนมา รวมไปถึงต้องรับผิดชอบแทนคณะราษฎรด้วยอย่างนั้นหรือ
ดูจะเป็นการจับแพะชนแกะไปหน่อย
เรื่องจีน อุยกูร์ เป็นงานใหญ่ เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน รัฐบาลไทยตัดสินใจบนพื้นฐานประโยชน์ชาติ มากกว่าคำเพ้อเจ้อของนักการเมืองโลกสวย
“ธนาธร” ไม่เคยจับงานใหญ่
เอางี้แล้วกัน ยังจำได้มั้ยครับ คณะก้าวหน้า จัดกิจกรรม “เมย์เดย์-เมย์เดย์” อ้างช่วยเหลือคนเดือดร้อนโควิด เมื่อปี ๒๕๖๓
แจก ๓ พันบาท ไม่ต้องพิสูจน์ความจน เพื่อเสียดสีรัฐบาล
ผลคือถูกแฉ อวตาร โผล่เพียบ
“หมอวรงค์” ไปสุ่มตรวจ ไม่มีการโอนเงินจริง
นี่แค่งานเล็กๆ ยังพบข้อผิดพลาด
ถามไปก็มีแต่แพะกับแกะ
๙๐ ปีที่ไปไม่ถึงไหน ส่วนหนึ่งก็เพราะเรามีนักการเมืองแบบนี้.