ภท.เสนอThailand Sharing University ทางออกการศึกษาไทยในอนาคต ชี้คนต้องการการศึกษาทางเลือก- ตามอัธยาศัย เพิ่มมากขึ้น ยกเคสชาวนา-ชาวไร่ใช้มือถือ หาข้อมูลมากขึ้น
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.นายพะโยม ชิณวงศ์ ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวในการเข้าร่วมการเสวนาเรื่อง “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนทันโลก” ที่ จัดโดย สถาบันทีดีอาร์ไอ ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ว่าการปฏิรูปการศึกษาจะแตกหักอยู่ที่ห้องเรียน แต่อยากจะเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปการศึกษาแตกหักอยู่ที่ตัวผู้เรียน สิ่งที่ท้าทายการศึกษามีเยอะมาก ในขณะนี้กลุ่มเป้าหมายทั้งกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา และ อุดมศึกษา ซึ่งเป็นทั้งในระบบ และนอกระบบ ทุกคนกำลังใฝ่หาเรื่องการศึกษา เช่นคนที่อยู่ในสถานประกอบการ 22 – 25 ล้านคน เกษตรกร ที่ทำการเกษตร ซึ่งน่าสนใจว่าเกษตรกรปัจจุบันนี้ ใช้โทรศัพท์มือถือ ค้นหาข้อมูลต่างๆในสิ่งที่เขาอยากจะทำ เช่นปลูกทุเรียน หรือปลูกอะไร เขาก็จะหาความรู้ จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ เราจะช่วยเขาได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้เข้าถึงการศึกษาได้ รวมถึงเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
นาสพะโยม กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรามีโรงเรียนนวัตกรรม เกิดขึ้นมากมาย แต่จะทำอย่างไรมาสร้างความต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยงกัน หรือ มาแชร์ กระจายความรู้และข้อมูล เราน่าจะมีสถาบัน หรือ ศูนย์อะไรที่ทำให้เกิดการ Sharing เท่าที่เราคิดคือจะต้องมีศูนย์ Thailand Sharing University ให้เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องการจัดการศึกษากับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เราต้องมีการศึกษากระแสหลัก ที่ทำมานาน และ การศึกษาทางเลือก หรือ การศึกษานอกระบบ ตามอัธยาศัย ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาท กับบุตรหลานตนเองในรูปแบบ โฮมสคูล โดยมีสังคมสถาบันครอบครัวดูแล ขณะเดียวกันบางครั้งโรงเรียนเป็นตัวสร้างปัญหา ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้เด็กของเร าได้รับโอกาสมากที่สุด ต้องยึดหลักกระแสการศึกษาทางเลือกให้มากขึ้น จัดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน
“ในต่างจังหวัด กระแสการศึกษาทางเลือก กำลังถูกถามมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอีกไม่นานจะถูกจุดเป็นกระแสขึ้นมา ดังนั้นการเข้าถึงการศึกษาให้กับกลุ่มคนพวกนี้ ด้วยการศึกษาออนไลน์ ซึ่งเป็นทางออก ที่สำคัญต้องให้ครูมีระบบการประเมินผลด้วยรูปแบบใหม่ แต่อย่าลืมรูปแบบเก่าที่เชื่อมโยงกับการกระจายอำนาจ ต้องขึ้นมาจากข้างล่างทำให้เป็นรูปธรรม โดยให้ท้องถิ่นเป็นคนคิดขึ้นมาไม่ใช่เอามาจากส่วนกลาง หรือ ให้ท้องถิ่นเสนอกรอบทั้งเรื่องงบประมาณ เรื่องหลักสูตร แล้วให้รัฐบาลเป็นคนอนุมัติ”นายพะโยม กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ