ประชาไทสรุปเสวนา หัวข้อ “สันติภาพเมียนมา” จัดโดย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวาระวันสันติภาพ เมื่อ 16 ส.ค. 2566ระดมความเห็นจากหลากหลายฝ่าย นักวิชาการ นักการเมือง และภาคประชาสังคม ต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมาหลังผ่านรัฐประหารมากว่า 2 ปี และคำถามสำคัญก็คือ ถึงเวลาที่อาเซียนและไทยต้องใช้ไม้แข็งต่อรองกดดันกองทัพพม่าให้มีการลดความรุนแรงในเมียนมาหรือยัง
เสวนาดังกล่าวมีผู้ร่วมอภิปราย 5 คน ประกอบด้วย กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ., สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา “Human Rights Watch” ประจำประเทศไทย และอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ และกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และดำเนินรายการโดย ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Reporters
- สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอตช์ มองรัฐเมียนมาหลังรัฐประหารอยู่ในภาวะล้มเหลว สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษย์รุนแรงขึ้น และการเอาผิดต่อผู้ละเมิดยังเป็นไปได้ยาก แม้จะมีการพยายามเอาผิดกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง
- สุณัย เสนอว่า อาเซียนต้องสร้างเงื่อนไข และใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อต่อรองให้กองทัพพม่าทำตามเงื่อนไขของอาเซียน โดยเฉพาะการขู่ยกเลิกสมาชิกภาพ ผสานการใช้การทูตกึ่งทางการ เชื่อหากตบหน้าตรงๆ จะทำให้พม่า ถอยห่างจากอาเซียน
- พินิตพันธุ์ บริพัตร นักวิชาการการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่า ปัญหาของอาเซียนคือต้องลองหาวิธีการทูตวิธีใหม่ในการแก้ไขวิกฤตเมียนมา หลังลองมา 2 ปี ทุกวิธีแล้ว แต่ไม่คืบ พร้อมมองปัญหาการทูตอาเซียน ไร้ลำดับขั้น และทิศทาง ต้องชัดเจนกว่านี้
- ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมา เสนอรัฐบาลไทย-อาเซียนสร้างอำนาจต่อรอง ผ่านการสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ฝ่ายต่อต้าน/รัฐบาล NUG และฝั่งกองกำลังชาติพันธุ์ เพื่อให้กองทัพพม่ายอมอ่อนข้อลง และลดความรุนแรงในเมียนมา
- ดุลยภาค เสนอด้วยว่า ไทยต้องสร้างความร่วมมือในระดับท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดนควบคู่ไปด้วย อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษเชิงสร้างสรรค์ หรือใช้โมเดลสวนสันติภาพฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ดึงผู้หนีภัยฯ ขึ้นมาทำงานถูกกฎหมาย ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนยกระดับการสร้างสันติภาพในระดับที่ใหญ่ขึ้น
เอาผิดกองทัพเมียนมาไม่ง่าย
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา “Human Rights Watch” ประจำประเทศไทย มองว่า รัฐเมียนมาขณะนี้อยู่สภาวะรัฐล้มเหลว (Failed State) ทำให้สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากตัวแสดงที่เป็นรัฐ และไม่ได้มาจากรัฐ ซึ่งอ้างว่าเป็นกลุ่มต่อต้านเผด็จการทหาร แม้ว่าความรุนแรง และความถี่มันจะน้อยว่ารัฐก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ปฏิบัติการระเบิดในเขตเมือง การวางเพลิงเผา การขึ้นบัญชีดำผู้ฝักใฝ่ระบอบเผด็จการ หรืออื่นๆ ขณะที่เผด็จการทหาร หนักกว่าก่ออาชญากรรมสงคราม และก่ออาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์
สุณัย มองด้วยว่า เรื่องการยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพในเมียนมาอาจเป็นไปยาก ส่วนการจะเอาผิดกับผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้หรือไม่ สุณัย ตอบว่ามีช่องทาง แต่เอาผิดได้ยาก แม้การเอาผิดกับรัฐเมียนมาดำเนินมาอย่างต่อเนื่องผ่านศาลโลก และศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่มีความคืบหน้าน้อยมาก มีแค่เรื่องโรฮีนจา เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศคดีเดียว ส่วนเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะการประหัตประหารผู้ไม่เห็นด้วยกับระบอบทหาร ตอนนี้ยังหาเจ้าภาพที่จะเอาผิดยังไม่ได้
ถึงเวลาอาเซียน ใช้ไม้แข็ง สร้างแต้มต่อกดดันเมียนมา หรือยัง(?)
ที่ปรึกษา Human Rights Watch มองโจทย์ในระดับภูมิภาคทำอะไรได้บ้าง วันนี้ฟังผู้อภิปรายหลายคนพูดแล้ว มองว่า อาเซียนไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก โดยเฉพาะหลังมีการประชุมสมัยพิเศษแก้ไขวิกฤตการเมืองเมียนมา และออกฉันทามติ 5 ข้อขึ้นมา ส่วนไทยสามารถเล่นบทบาทนำในการเมืองกัมพูชาช่วงสมัยสงครามอินโดจีน แต่คำถามคือแต้มต่ออยู่ตรงไหน แต้มต่อตอนที่ไทยเข้าไปมีบทบาทในกัมพูชา สมัยยุคเฮง สัมริน คือการให้กัมพูชาเป็นสมาชิกอาเซียน ทำให้มีแต้มต่อตรงนี้
สุณัย ผาสุข (ที่มา: เว็บไซต์ สถาบันปรีดี พนมยงค์)
กลับมาดูที่กรณีของเมียนมา อาเซียนมีแต้มต่อตรงนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่า อาเซียนจะใช้หรือไม่ เพราะว่าในอาเซียน มีกฎอยู่ข้อหนึ่งคือสมาชิกที่ทำตัว “นอกคอก” สามารถขับออกจากองค์การได้ แต่ไม่มีใครกล้าพูดถึงเรื่องนี้ ดังนั้น ถึงเวลารึยังที่อาเซียนจะยกเรื่องสมาชิกภาพของอาเซียนขึ้นมา ไม่ว่าการไม่เคารพฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ตลอดจนปัญหาข้ามพรมแดนกรณีอื่นๆ ถือว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ที่เราจะยกเรื่องนี้มาขู่ทางพม่า สุณัย มองว่า อาเซียนต้องสร้างแต้มต่อให้กับตัวเองเพื่อต่อรองกับกองทัพเมียนมา ที่ผ่านมาอาเซียนหงอเยอะไป ทำให้ตกลงเท่าไรกองทัพพม่าก็เบี้ยวตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ใครจะเป็นคนจุดประเด็นนี้ ไทยใกล้เกินไปที่จะเสนอประเด็นนี้หรือไม่ เพราะภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เมียนมาเกินไป หรือชาติอื่นๆ ในภาคพื้นสมุทรควรออกหน้าแทน
เสนอใช้ช่องทางการทูตกึ่งทางการ ไม่ตบหน้าตรงๆ ดึงมหาอำนาจสร้างสันติภาพเมียนมา
สุณัย กล่าวว่า แม้ว่าเขาเห็นด้วยว่าหากใช้วิธีตบหน้าตรงๆ กองทัพพม่าไม่เห็นด้วย และจะหันไปพึ่งพิงประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ก็คงต้องใช้แนวการทูตพัวพันอย่างสร้างสรรค์ หรือการพัวพันอย่างยืดหยุ่น จึงแนะนำว่าใช้เป็นวิธีกึ่งทางการก่อนน่าจะดีที่สุด โดยประยุกต์จากการทูตสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ใช้การประชุมช่องทาง 1.5 กึ่งทางการ โดยการเชิญทางการอาเซียนทั้งหมดบวกกับข้าราชการประจำเมียนมา เราใช้แบบนี้ได้หรือไม่ เพื่อสื่อสารกับเมียนมาว่าจะดื้อแพ่งแบบนี้ไม่ได้ ไม่งั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือการถอนสมาชิกภาพ
ต่อมา สุณัย เสนอว่า นอกจากช่องทางกึ่งทางการของอาเซียนแล้ว ไทยหรืออาเซียนสามารถประสานกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า เราสามารถทำอะไรที่เป็นรูปธรรมได้มากกว่าประณามเมียนมาในเวทีการประชุมสหประชาชาติหรือไม่ การบล็อกการทำธุรกรรมทางการเงินของกองทัพเมียนมา ในสิงคโปร์ หรือจะโยงไปที่สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป ให้ช่วยต่อรอง
“เราใช้ช่องทางกึ่งทางการ จะทำให้อาเซียน ซึ่งถูกเหยียดหยามเยาะเย้ยว่า เสือกระดาษ อาจจะมีเขี้ยวงอกขึ้นมานิดๆ ในการกดดันเมียนมาได้ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่งั้นสถานการณ์มันจะสิ้นหวังไปเรื่อยๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คนที่จะถูกวิจารณ์คืออาเซียน และไทย ที่เป็นหนังหน้าไฟ นามธรรม ในเชิงเกียรติภูมิของประเทศ และรูปธรรมคือการรับผู้ลี้ภัย” สุณัย กล่าว
ผลักดันวาระสร้างสันติภาพเมียนมา ผ่านกลไกอาเซียนระดับต่างๆ
พินิตพันธุ์ บริพัตร มองว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาอาเซียนลองทุกอย่างแล้วในการแก้ไขวิกฤตการเมืองเมียนมา ยกเว้น การใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอาเซียน ดังนั้น เราต้องใช้วิธีใหม่
“ผมคิดถึงนโยบายต่างประเทศไทยสมัยสงครามความขัดแย้งกัมพูชา ช่วงเปลี่ยนผ่านพลเอกเปรม ไปที่พลเอกชาติชาย ตรรกะของพลเอกชาติชาย มีอย่างเดียวคือ เราลองมาแล้ว 8 ปี ที่จะสกัดอิทธิพลของฮุน เซน และเวียดนาม และไม่สามารถสร้างสันติภาพในกัมพูชาได้ ดังนั้น ก็ควรจะต้องปรับทิศทาง” พินิตพันธุ์ กล่าวถึงกรณีไทยเข้าไปมีบทบาทในกัมพูชา ช่วงสงครามอินโดจีน
พินิตพันธุ์ บริพัตร (ที่มา: เว็บไซต์ สถาบันปรีดี พนมยงค์)
อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. เสนอต้องมีคนลองตั้งธงว่า อาเซียนพร้อมหรือยังที่จะเปิดพื้นที่ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงไม่ว่าคนนั้นจะเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ เราต้องลองนำวาระการเปิดพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรมเข้าไปในการประชุม “ASEAN People’s Forum” (การประชุมอาเซียนภาคประชาชน) ซึ่งมีทุกปี หรือการประชุมภาคประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ทำไมไม่มีการพูดถึง Humanitarian Corridor ต้องดึงอาเซียนเข้ามา และทำให้การแก้ไขปัญหาของอาเซียน เป็นสถาบันมากขึ้น และต้องชัดเจนเรื่องนโยบาย
นอกจากนี้ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. มองปัญหาการใช้นโยบายของอาเซียนยังขาดลำดับขั้นตอน ในการดำเนินนโยบาย เหมือนอาเซียนมีเมนูนโยบายทั้งในเชิงปฏิบัติทางการทูต (การใช้การทูตทวิภาคี และพหุภาคี) หรือในเชิงหลักการ (การพูดถึงหลักการสิทธิมนุษยชน หรือมนุษยธรรม) แต่ไม่มีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน ยกตัวอย่าง เรามีฉันทามติ 5 ข้อ ถ้าไม่ทำตามแล้วยังไงต่อ รัฐบาลไทยไปคุยกับอองซานซูจี และบอกว่าสบายดี เราจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยไม่มีการเจรจากับกองทัพพม่า และเราจะทำยังไงต่อ เราต้องลองทุกอย่าง และเราต้องเข้าใจว่าข้อจำกัดคืออะไร
สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน-กองกำลังชาติพันธุ์ ต่อรองกับกองทัพเมียนมา
ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หลังรัฐประหารเมียนมาเมื่อปี 2564 ทำให้คู่ขัดแย้งในการเมืองมี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กองทัพพม่า ฝ่ายต่อต้าน/รัฐบาล NUG และกองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งมีจำนวนมาก และขาดความเป็นเอกภาพ โดยคำถามสำคัญตอนนี้คือ 3 ก๊กนี้มองมโนทัศน์เรื่อง “สันติภาพ” เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และการช่วยเหลือจากประเทศไทย หรืออาเซียน ต้องเข้าใจกลยุทธ์ของการต่อสู้ 3 กลุ่มก้อนตัวแสดง
ต่อมา ในรอบที่ 2 ดุลยภาค ตั้งข้อสังเกตว่า ความรุนแรงที่มันเกิดขึ้นในพม่ามันเกิดจากหลักคิดและความชินชาต่อการใช้ความรุนแรงของทหารพม่า และทหารพม่าเป็นตัวแสดงที่ดื้อมาก และหวาดระแวงการแทรกแซงจากต่างชาติมากๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยศิลปะทางการทูตเป็นอย่างมาก
ดุลยภาค ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทหารพม่าเป็นโรคหวาดระแวงต่างชาติ หรือกลัวการแทรกแซงจากภายนอก เรื่องนี้สะท้อนในสมัยรัฐบาลตานฉ่วย (พ.ศ. 2535-2547) ตอนนั้นพม่าถูกประธานาธิบดี จอร์จ บุช จูเนียร์ (พ.ศ. 2544-2552) กล่าวหาว่าเป็นหน้าด่านของทรราชย์ ผลจากการกล่าวหาทำให้กองทัพพม่าถึงกับไปตั้งศูนย์บัญชาการลับที่กรุงเนปิดอว์ เจาะอุโมงค์สร้างช่องทางหลบหนี เชิญช่างเทคนิคเกาหลีเหนือในการวางโครงข่ายป้องกันทางอากาศ การตั้งกองพันนิวเคลียร์ และส่งทหารไปเรียนที่รัสเซีย
ดุลยภาค ปรีชารัชช (ที่มา: เว็บไซต์ สถาบันปรีดี พนมยงค์)
นอกจากนี้ ดุลยภาค มองสถานการณ์กองทัพเมียนมาหลังการทำรัฐประหารปี 2564 ดูจะทำให้กองทัพเมียนมา หลังพิงฝามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) บัญญัติว่า เมื่อใดก็ตามที่เมียนมามีความสับสนวุ่นวาย จะต้องใช้ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนเข้ามา แต่คำถามปัจจุบันคือจะเอาประชาชนมาร่วมรบอย่างไร เมื่อประชาชนไม่เอาเผด็จการ และประกาศสงครามปฏิวัติสร้างระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้ทำให้กองทัพเมียนมาหลังชนฝา และกดดันว่าจะถูกแทรกแซงและถูกล้มระบอบทหารมากขึ้น ทางแก้ของทหารพม่า ก็จะเปลี่ยนเป็นรัฐแสนยานุภาพ พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย และเกาหลีเหนือ ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาสะสม เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง
ดังนั้น ดุลยภาค จึงมองว่า ถ้าเราใช้วิธีที่รุนแรงอย่างการขู่จะยกเลิกสมาชิกภาพ เขาทำนายได้เลยว่า พม่าจะหันเข้าหารัสเซีย หรือเกาหลีเหนือ เพื่อหาทางสร้างอำนาจต่อรอง (Bargaining Power) และจะถอยห่างจากอาเซียน
แล้วแบบนี้ ถ้ากองทัพเมียนมาไม่ง้ออาเซียน และเราจะแก้เกมอย่างไรได้บ้าง ดุลยภาค มองว่า เราสามารถกดดันได้ แต่ต้องมีจังหวะผ่อนสั้น-ยาว เช่น ตอนนี้เมียนมามีลักษณะเป็นรัฐล้มเหลว คุณลักษณะของรัฐล้มเหลวอย่างหนึ่งคือการไม่สามารถส่งมอบบริการสาธารณะให้กับประชาชน เช่น สาธารณสุข เรื่องการแพทย์ หรืออื่นๆ ทีนี้บทบาทของอาเซียนกับไทยคือในฐานะมนุษยธรรม เมื่อประชาชนเมียนมาได้รับความเดือดร้อน อาเซียน และไทย สามารถระดมความช่วยเหลือและการเสริมสร้างสมรรถนะให้กับรัฐบาล ‘NUG’ หรือกองกำลังชาติพันธุ์อย่าง KNU หรือ KNPP ซึ่งเขามีโครงสร้างการบริหารท้องถิ่นขนาดย่อมอยู่แล้ว
ดุลยภาค มองว่า เราต้องต่อรองรัฐบาลเมียนมาว่า ถ้าเขาละเมิดสิทธิประชาชน เราจะไปช่วยเหลือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลดูแลประชาชน ดูแลเศรษฐกิจชายแดน ถ้าทหารเมียนมาไม่ต้องการ ก็ต้องยื่นเงื่อนไขลดความรุนแรงภายในประเทศ หรือดื้อรั้นให้น้อยลง มาร่วมกับทางอาเซียน หรือสหประชาชาติ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปช่วยเหลือประชาชน อันนี้เขาคิดว่าทำได้
ดุลยภาค มองต่อว่า บทบาทของรัฐบาลไทยในฐานะหน้าด่าน เป็นตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ตอนไทยปั้นเขมร 3 ฝ่ายสู้ เฮง สัมริน โดยมีการดึงมหาอำนาจจากภายนอกอย่าง สหรัฐฯ และยูเอ็น เข้ามาช่วย ก่อนที่รัฐบาลชาติชาย ใช้นโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า’ คุยกับรัฐบาลกัมพูชาโดยตรง และฝ่ายเขมรแดงก็ได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าทีมการต่างประเทศรัฐบาลใหม่มีลีลาการทูตแบบนี้ ก็จะสามารถช่วยทางฝั่งตะวันตก คุยกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ในเมียนมาในลักษณะไหนให้เราได้เปรียบ และประชาชนได้รับความผาสุขด้วย
รักษาการประธานาธิบดี รัฐบาล NUG “ดูหว่าละชิละ” (ที่มา: ภาพจากไลฟ์สดเพจเฟซบุ๊ก Acting President Duwa Lashi La)
เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก่อนยกระดับสร้างความร่วมมือในอนาคต
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมาจาก มธ. เสนอไทยว่าต้องเริ่มจากเรื่องเบาๆ และเป็นมิตร ก่อนยกระดับต่อไป เรื่องไหนเริ่มได้เริ่มได้เลย ไม่ต้องรอ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ผ่อนสั้นผ่อนยาว
ดุลยภาค เสนอว่า พลวัตรพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เช่น แม่สาย ท่าขี้เหล็ก แม่สอด เมียวดี หรือในเขตป่าเขา สาละวิน ที่ติดกับประเทศเมียนมา อาจจะเริ่มลองทำเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนที่มีนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมา และใช้ทรัพยากรบุคคลจากผู้หนีภัยสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่สามารถพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว และมีองค์ความรู้พอสมควรเข้ามาทำงาน หรือการตั้งโรงเรียนสันติภาพโดยดึงชาวเมียนมาเข้ามาทำงานหรืออบรมเรื่องสันติภาพ การเป็นล่ามให้กับสถาบันการศึกษาที่สนใจและอยากทำงานเรื่องพม่า หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือเปิดเป็นคอมเพล็กซ์การค้าและการบริการ นำผู้ประกอบการผิดกฎหมายขึ้นมาทำงานบนดิน และเอามาอยู่ในเขตเศรษฐกิจชายแดนเชิงสร้างสรรค์ตรงนี้ ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์ และขณะเดียวกันได้สร้างสันติภาพควบคู่ไปด้วย
ดุลยภาค มองว่าโมเดลนี้เคยทำได้ในรัฐกะเหรี่ยงผ่านการสร้างสวนสันติภาพ โดยจัดให้เป็นเขตห้ามยิง และมีการอบรมสร้างสันติภาพในพื้นที่ ประชาชนก็มีความสุข หรืออาจเพิ่มโปรแกรมอนุรักษ์พันธุ์ปลาหรือพันธุ์ไม้ในสาละวิน เราก็สามารถดึงบุคลากรชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามาช่วยอบรม และช่วยดูแลได้ หรือกระทั่ง แม่ทัพนายกองของกองทัพเมียนมา ดึงเข้ามาเกี่ยวดองกันได้ สร้างบรรยากาศเป็นมิตร และยกระดับการสร้างสันติภาพต่อไป
กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวเห็นด้วยกับข้อเสนอของดุลยภาค เพราะว่าพรรคเป็นธรรม มีนโยบาย “ระเบียงเศรษฐกิจ” โดยชายแดนของไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด จำเป็นต้องมีการเปิดระเบียงเศรษฐกิจ สร้างเมืองคู่แฝด ใช้ซอฟต์พาวเวอร์พัฒนาปรับปรุงฝั่งตะวันตกของไทย หรือจะมีการสร้างโรงเรียนสันติภาพ หรืออบรมเรื่องสันติภาพก็ยังได้
ดึงจีนช่วยเรื่องเมียนมา
กัณวีร์ มองว่า ไทยต้องใช้กรอบความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี โดยเฉพาะประเทศจีน และพหุภาคีอย่างอาเซียน ควบคู่กัน เพื่อเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมา
กัณวีร์ เสนอลองเจรจากับจีน เนื่องจากจีนมีอิทธิพลค่อนข้างสูงกับเมียนมา โดยเฉพาะเศรษฐกิจทางตอนเหนือของเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นเหมืองหยก หรืออื่นๆ ดังนั้น ไทยอาจจะใช้ความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน ในการเชื้อเชิญเมียนมา ให้เข้ามาพิจารณาเรื่องการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และการทำงานด้านมนุษยธรรมให้กับราษฎรในประเทศของตัวเองได้ ไทยต้องลองดูแนวทางการทูตแบบทวิภาคีอย่างจีน และอินเดีย หรือใช้อาเซียน
อย่างไรก็ตาม กัณวีร์ กล่าวย้ำว่า เรื่องเร่งด่วนที่สุดคือการสร้างระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) ขึ้นมาด้านชายแดนตะวันตกของประเทศไทย และต้องใช้ทุกกลไก เพื่อเปิดระเบียงให้ได้ และต้องทำให้เร็วและเร่งด่วน
กัณวีร์ สืบแสง (ที่มา: เว็บไซต์ สถาบันปรีดี พนมยงค์)