คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์ รณดล นุ่มนนท์
มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่าต่อ ๆ กันมาว่า “เช้าวันหนึ่งกระทาชายสองเกลอ เข้าไปล่าสัตว์ในป่าลึกหลังจากเดินเข้าไปได้ไม่นาน คนหนึ่งเกิดอาการวูบล้มลงไปนอนกองอยู่กับพื้น เพื่อนอีกคนตกใจทำอะไรไม่ถูก พอตั้งสติได้ จึงรีบติดต่อไปหาเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน ละล่ำละลักตะโกนผ่านโทรศัพท์มือถือว่า ช่วยด้วย ช่วยด้วยครับ เพื่อนผมสะดุดล้มลงกับพื้น ดูเหมือนว่าจะหยุดหายใจ ผมสงสัยว่าเขาคงจะตายแล้ว”
ผมจะทำยังไงดีครับ ?
เพียงช่วงอึดใจ เสียงราบเรียบนุ่มนวลของเจ้าหน้าที่หญิงหน่วยกู้ภัยก็ดังขึ้นว่า “ใจเย็น ๆ นะคะ ใจเย็น ๆ ตั้งสติไว้ค่ะ แต่ก่อนอื่น คุณแน่ใจนะว่าเพื่อนคุณตายแล้ว” เสียงอีกฝ่ายเงียบลง แต่เพียงเสี้ยวนาทีต่อมา เสียงปืนดังลั่นขึ้น 1 นัดพร้อมกับเสียงหนักแน่นของพ่อหนุ่มที่บอกว่า “แน่ใจครับ ๆ ผมแน่ใจ ตายสนิทเลยแล้วเอาไงต่อครับ” (1)
นิทานเรื่องนี้ได้รับการโหวตให้เป็นเรื่องตลกที่สุดของโลกในปี 2001 ผมคิดว่าพวกเราคงจะสนุก และหัวเราะไปกับมุขตลกเยี่ยมยอด แต่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมผมถึงเอาเรื่องขำขัน สนุกสนาน มาเล่าในภาวะที่ทุกคนกำลังเครียด และกลุ้มใจกับมหันตภัยโควิด-19 ตัวเลขคนติดเชื้อรายวันทะลุเฉียดหลักหมื่น ยอดนิวไฮตัวเลขตายพุ่งใกล้แตะหลักร้อย ขณะที่สถิติวิกฤตผู้ป่วยหนักสูงเป็นอันดับ 11 ของโลกแล้ว
ขณะเดียวกันก็ยังนึกเสียดาย และคิดถึง “น้าค่อม ชวนชื่น” ตลกระดับตำนานขวัญใจคนไทยผู้ฝากเสียงหัวเราะให้กับแฟน ๆ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อโควิด-19 จากไปโดยไม่ทันได้ตั้งตัวอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในทุกมุมมืด ย่อมมีมุมสว่าง การหัวเราะคือการแสดงอารมณ์สุขตามธรรมชาติของมนุษย์ เราคงคุ้นเคยกับวลีที่ว่า “หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง”, “หัวเราะจนงอหาย”, “หัวเราะทั้้งน้ำตา”
ในทางการแพทย์ ได้ใช้การหัวเราะเป็นเครื่องบำบัดโรคภัย และอารมณ์เศร้าหมอง เพราะคนที่สามารถสร้างอารมณ์ขัน และหัวเราะได้ในสถานการณ์เลวร้าย จะเกิดพลังในตัวเอง คลายความเศร้าช่วยเปิดทัศนคติมองโลกในเชิงบวกได้ เหมือนกับที่เรากำลังมองด้านดี ๆ ของการที่ต้องแปลงสภาพบ้านให้เป็นที่ทำงาน เกิดการ work from home (WFH) ที่เราคุ้นชินกันในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา (2)
จริงอยู่ในการทำงาน WFH เราไม่ต้องตื่นแต่เช้า ไม่เร่งรีบ ไม่ต้องกังวลเรื่องแต่งตัว ไม่ต้องลุ้นว่ารถจะติด จะมาถึงที่ทำงานทันไหม เพราะทุกอย่างสามารถประชุมทางไกล และทำงานออนไลน์ได้เกือบหมด
แต่แน่นอน สิ่งที่ขาดหายไป คือ การปฏิสัมพันธ์แบบ “พบหน้ากัน” ไม่มีการทักทาย, ไม่มีการพูดคุยหยอกล้อสารพัดเรื่อง, ไม่ได้กินกาแฟด้วยกัน เสียงหัวเราะหายไป เกิดความเหงาเป็นระยะ ๆ เพราะจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์นั้นเกิดจากการได้อยู่เรียนรู้ร่วมกัน และร่วมกันทำงาน
ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของบุคลิกภาพแต่ละคน
“ดร.ซาบรินา สเตียร์วอลต์” (Sabrina Stierwalt) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ วิทยาลัย Occidental สหรัฐอเมริกาได้อธิบายเรื่องทำไมมนุษย์ถึงต้องหัวเราะ ? (Why do we laugh ?) ไว้ว่า…ในแต่ละวัฒนธรรมล้วนมีเสียงหัวเราะ แม้จะเป็นเสียงหัวเราะจากเรื่องราวที่แตกต่างกัน ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นที่หัวเราะ แม้แต่ลิงก็ยังหัวเราะ เพราะมีนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมการหัวเราะของลิงด้วยวิธีการจั๊กจี้ อาชีพอย่างนี้ก็มีด้วย (3)
สำหรับมนุษย์ การหัวเราะเป็นสิทธิและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทารกจะเริ่มยิ้มในสัปดาห์แรกหลังคลอด และเริ่มหัวเราะเสียงดังภายในไม่กี่เดือน หลังจากนั้น โดยปกติคนเราจะหัวเราะเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 18 ครั้ง และกว่าร้อยละ 97 จะหัวเราะเมื่อมีคนอื่นอยู่รอบ ๆ ตัวมากกว่าในเวลาอยู่คนเดียวถึง 30 เท่า
ผลการศึกษายังพบว่าเวลาเด็กดูการ์ตูนจะหัวเราะ เมื่ออยู่กับเพื่อน ๆ มากกว่าอยู่เพียงลำพัง 8 เท่า
“ดร.ซาบรินา สเตียร์วอลต์” ยังได้ทำการทดสอบคนในชุมชนที่ต่างกัน 24 ชุมชนรวม 966 คน โดยให้ผู้ร่วมทดสอบฟังเสียงหัวเราะ 2 เสียง เสียงหัวเราะหนึ่งเป็นเสียงของคนใกล้ชิด อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงคนแปลกหน้า ผลปรากฏว่า ส่วนใหญ่สามารถจำแนกได้ว่าเสียงใดคือเสียงหัวเราะของคนสนิทที่รู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และเสียงใดคือเสียงหัวเราะที่เกิดจากการเสแสร้งรับมุขตลกจืด ๆ จากคนแปลกหน้า
แหล่งที่มา : (1) Poosuwan, B., 2021. เรื่องตลกเรื่องไหนที่ขำที่สุดในโลก : a scientific experiment-ThaiPublica. [online] ThaiPublica.Available at : https://thaipublica.org/2015/12/nattavudh-31/>[Accessed 11 July 2021]
(2) Brightside People. 2021. 5 แนวทางนำเสียงหัวเราะกลับคืนสู่ออฟฟิศ-Brightside People. [online] Available at : https://www.brightsidepeople.com [Accessed 11 July 2021].
(3) Stierwalt, E., 2021. Why Do We Laugh ? [online] Scientific American. Available at : [Accessed 11 July 2021].