เมื่อเร็วๆ นี้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดบ้านโชว์ศักยภาพว่าที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ Senior Project #4 ตลาดวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ฝีมือนวัตกรพันธุ์ใหม่ ครั้งที่ 4 เผยแพร่ 400 ผลงานวิจัยหวังต่อยอดทางธุรกิจ
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า Senior Project เป็นโอกาสของว่าที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่จะได้ผลเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุดสร้างสรรค์ ที่ครอบคลุม 6 กลุ่มงานวิจัย ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน, วิทยาศาสตร์กายภาพ, ชีววิทยาศาสตร์, ดิจิทัลและระบบการวิเคราะห์ข้อมูล, ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ และกลุ่มสุดท้าย คือ เทคโนโลยี โดยมีผลงานไฮไลท์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อต่อยอดเชิงธุรกิจและแก้ปัญหาสังคม อาทิ Rubber Tree Bark for Steelmaking เหล็กกล้าจากขี้เส้นยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชาวสวนยาง และลดการนำเข้าคาร์บอนจากต่างประเทศ, TU Care Giver แอพพลิเคชั่นแมชชิ่งบุรุษพยาบาล ให้พร้อมบริการผู้ป่วย-ผู้สูงอายุถึงเตียงนอน, Triage System ระบบจัดคิวผู้ป่วย เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพยาบาลในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น และNano Gel Cosmetic by Banana Blossom เจลจากสารสกัดปลีกล้วย เวชภัณฑ์ที่ซึมเข้าผิวได้ดีไม่มีเหนอะหนะ เป็นต้น
ด้าน น.ส.ธมิกา ชะนะสาร นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ตัวแทนทีมผู้พัฒนางานวิจัย “เหล็กกล้าจากขี้เส้นยางพารา” กล่าวถึงงานวิจัยว่าเป็นการศึกษาและพัฒนา “ขี้เส้นยางพารา” วัสดุเหลือทิ้งจากยางธรรมชาติ ให้กลายเป็นถ่านคาร์บอนคุณภาพสูง เพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินจากธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร และสนับสนุนภาครัฐลดมูลค่าการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ
เนื่องจากการกรีดยางในแต่ละวัน จะได้ขี้เส้นยางพาราถึง 1.5 กิโลกรัมต่อวันต่อสวนยางพารา 10 ไร่ เมื่อรวมสวนยางพาราทั้งประเทศกว่า 18 ล้านไร่ ก็จะได้ขี้เส้นยางพาราสูงถึง 2.7ล้านกิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 2,700 ตันต่อวัน และหากคำนวณการกรีดยางพาราทั้งปีจะได้ขี้เส้นยางพาราเป็นปริมาณมหาศาล
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ขี้เส้นยางพารา เป็นชีวมวลที่เป็นวัสดุพอลิเมอร์ธรรมชาติ มีองค์ประกอบหลักคือ คาร์บอน (Carbon based material) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้า ซึ่งเมื่อเปลี่ยนขี้เส้นยางพาราเป็นถ่านคาร์บอนจะสามารถใช้ทดแทนถ่านหินในการผลิตเหล็กกล้าได้มากกว่า 50%
อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าวยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อศึกษาพฤติกรรมการละลายของคาร์บอนและการทำปฏิกิริยากับตะกรันในเตาหลอม และการนำไปทดลองใช้กับโรงงานผลิตเหล็กเพื่อทดแทนการใช้ถ่านหินต่อไป
ผลงานเหล่านี้ถือว่าตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ SCI+BUSINESS การบูรณาการความรู้ “วิทย์-เทคโนโลยี-ผู้ประกอบการ” สู่งานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์สุดสร้างสรรค์ ที่มุ่งแก้ปัญหาสังคมและพร้อมต่อยอดทางธุรกิจได้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ