“เอ็มยูที”แนะแนวเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงตกงานในอนาคต เนื่องจากธุรกิจหลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งจากแรงสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 การเปิดเสรีด้านแรงงานและความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ MUT เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมาย ประเทศไทย ไว้ว่าจะเป็นประเทศรายได้สูง มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิส ติกส์ของภูมิภาค เป็นชาติการค้าและบริการ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน แหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ไปตามเป้าหมาย
…แผนพัฒนาฯ ดังกล่าว ทำให้ทราบถึงความต้องการตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นที่ต้องการมากในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ วิศวกรรมโลจิสติกส์ วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสารเศรษฐกิจดิจิทัล วิศวกรรมเมคคราทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบวัดคุม วิศวกรรมไฟฟ้าและโยธา ขณะเดียวกัน ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แรงงานที่กำลังขาดแคลนอย่างมาก คือ วิศวกรรมไฟฟ้าระบบสมองกลฝังตัว วิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์
นอกเหนือจากองค์ความรู้ด้านวิชาการแล้ว หัวใจสำคัญของบุคลากรในอนาคต ภาคธุรกิจต้องการผู้ที่มีความเข้าใจ รู้เท่าทันเทคโนโลยี สามารถนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning และ STEM มาประยุกต์ใช้ ทำให้นักศึกษาเกิดความสนุกที่จะเรียนรู้ กระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถฝึกคิดในเชิงนวัตกรรมได้อย่างเป็นระบบและครบวงจร
“ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า ต้องเริ่มต้นจากการวางแผนตั้งแต่วันนี้ เลือกพัฒนาตนเอง ศึกษา ทำความเข้าใจกับความต้องการของตลาดแรงงานและการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ เพราะต่อไปการแข่งขันไม่ใช่แต่เพียงแรงงานภายในประเทศเท่านั้น แต่แรงงานฝีมือจากต่างชาติจะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน” รองอธิการบดี กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ