เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) นครราชสีมา นายสุวัช ศรีสด ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านนาจะลา อ.เสิงงาม จ.ลำปาง ในฐานะประธานชมรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้สินวิกฤติ พร้อมพวกได้มารอกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา จ.นครราชสีมา ตามที่ได้ประสานกับเครือข่ายเพื่อนครู โดยนัดหมายรวมตัวสำแดงพลังประกาศปฏิญญาโคราช แก้หนี้วิกฤตครู ปรากฏไม่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มครูโคราชแต่อย่างใด มีแต่เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงทั้งในและนอกเครื่องแบบได้มาเฝ้าระวังทำหน้าที่รายงานความเคลื่อนไหวให้ผู้บังคับบัญชา โดยร้องขอให้งดทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมซึ่งหมิ่นเหม่กับข้อกฎหมาย นายสุวัช ฯ จึงให้สัมภาษณ์ชี้แจงว่า ขอชี้แจงกรณีการประกาศปฏิญญาสารคาม ยุติการชดใช้หนี้สินตามที่สังคมเคลือบแคลงใจ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เราไม่ต้องการให้รัฐบาลยกหนี้สินให้โดยไม่ชำระคืน ความต้องการที่แท้จริงคือขอความเมตตาจากรัฐบาล ตามที่นายกรัฐมนตรี รับทราบปัญหาและมีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2558 ให้ดำเนินการช่วยเหลือครูที่เป็นหนี้สิน ขณะนี้ความช่วยเหลือยังมาไม่ถึง ความเดือดร้อนของครูก็ยังมีอยู่
“ เรามิได้เคลื่อนไหวเชิงการเมือง แต่ต้องการขอความช่วยเหลือแจ้งความประสงค์ผ่านสื่อมวลชนถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้ ให้ช่วยเหลือแก้ไข เยียวยาปัญหาความเดือดร้อนเรื่องหนี้สินครูโดยใช้วิธีการรวบหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการส่งชำระหนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องตั้งกองทุนสนับสนุนพิเศษ เพื่อความมั่นคง ช.พ.ค. ใช้งบประมาณจากกองทุนมาช่วยเหลือครูที่เป็นหนี้วิกฤต ส่วนใหญ่เป็นครูบำนาญ เมื่อเกษียณอายุราชการก็ถูกระงับเงินค่าตอบแทนวิทยฐานะหรือเงินประจำตำแหน่ง ส่งผลให้มีเงินไม่เพียงพอในการชำระหนี้สิน ข้าราชการครูได้เพียงเงินเดือนเพียงทางเดียว จึงมีหนี้สินวิกฤต ที่ผ่านมารัฐบาลเคยช่วยเหลือสำเร็จมาแล้ว แต่ขาดความต่อเนื่อง จึงเหมือนนำหินไปปิดปากถ้า ล่าสุดครูมีหนี้สินวิกฤตทั้งประเทศกว่า 6 หมื่นคน ติดอยู่ในถ้ำไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง จึงต้องเคลื่อนไหวปฏิญญาสารคาม พวกเราไม่ต้องการเบี้ยวหนี้อย่างแน่นอน เพราะครูที่มีหนี้สินจะถูกหักเงินเดือน ณ ที่จ่าย จึงหนี้หนี้ไม่ได้อยู่แล้ว ขอให้สังคมเห็นใจและเข้าใจความประสงค์ที่แท้จริงด้วย”นายสุวัช ฯ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ