ข้อมูลสถิติปริมาณขยะที่เข้าระบบ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบปีที่ผ่านมา ไทย มีขยะอุตสาหกรรมสูงถึง 31 ล้านตัน จากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โรงงาน เขตนิคมอุตสาหกรรม การเร่งขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ตลอดจนเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะข้อมูลสถิติปริมาณขยะในทะเลล่าสุด ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบไทย ติดอันดับ 6 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก ทำให้สูญเสียงบประมาณจัดการขยะเหล่านี้เป็นจำนวนมาก
วงการอุตสาหกรรมมากมาย ได้ให้ความสำคัญในการลดปริมาณขยะและเปลี่ยนขยะ กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ไม่เว้นกระทั่งวงการออกแบบเอง
อ.จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังเป็นเทรนด์ออกแบบที่น่าจับตามอง หลากหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มใช้กระบวนการจัดการของเสีย ผ่านการออกแบบวัสดุ หรือ Material Design ที่นำวัตถุดิบซึ่งผ่านกระบวนการผลิต และบริโภค กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ เพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะ และลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต
อ.จารุพัชร
นอกจากขยะโลหะ หรือพลาสติก ที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้ด้วยตัวของมันเองแล้ว อีกกลุ่มขยะที่มีมหาศาล และแทบจะไม่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ มักมาจากอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมก่อสร้าง
จึงส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบสิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น “ขยะ” และ“ของเสีย” ด้วยแนวคิดการออกแบบวัสดุ ร่วมกับใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อคืนชีวิตขยะมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ
Horse Hair Collection :เข็มขัดนิรภัยไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม สู่วัสดุตกแต่งผนังไฮแฟชั่น
จุดเริ่มต้น จากเข็มคัดนิรภัยคุณภาพสูงในรถยนต์ ที่ตกมาตรฐานเพียงแค่ สีของเข็มคัดนิรภัย ไม่ตรงสเปกกับตัวรถ
ทำให้มีเข็มคัดนิรภัยที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน และกลายเป็นขยะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์จำนวนมาก หลังจากศึกษาคุณสมบัติเข็มขัดนิรภัยพบว่า ความพิเศษคือแข็งแรง ทนทาน และเมื่อนำมาผ่านกระบวนการทอ สามารถทำให้มีลักษณะเป็นขนฟู งดงามคล้ายขนของม้า
ตนได้ออกแบบ และพัฒนาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการผลิต ออกมาเป็นของวัสดุตกแต่งผนัง ในรูปแบบเดคอเรทีฟวอลเปเปอร์ (Decorative Wallpaper) ที่ปัจจุบัน ผลิตและ จำหน่ายจริง ในตลาดงานประดับตกแต่งบ้าน
Peanut Better :กากขยะการเกษตร สู่โฮมเดคอร์สีสันเจ็บ
ผลงานออกแบบของน.ส.รมิตา เสน่ห์ค่า นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม วิชาการออกแบบสิ่งทอ สจล. ที่ได้แรงบันดาลใจจากขยะจากอุตสาหกรรมการเกษตร อย่าง ‘เปลือกถั่วลิสง’ ซึ่งมักจะนำไปทำเป็นปุ๋ย
แต่ด้วยแนวคิดการออกแบบ ร่วมกับประยุกต์เทคโนโลยีการผลิต ได้ขึ้นรูป อัดแข็งแบบแผ่น พร้อมย้อมสีธรรมชาติเป็นลายทางเรขาคณิต กลายมาเป็นเคหะสิ่งทอ ที่นำไปใช้ตกแต่งบ้าน ผนัง หรือเป็นแผ่นประดับตกแต่งโต๊ะอาหาร สีสันสวยงาม มีมูลค่าเพิ่ม
Meshography : กระเป๋ามุ้งลวดปักลาย ด้วยเทคโนโลยีการปักที่ไม่เคยใช้กับ ‘มุ้ง’มาก่อน
ผลงานออกแบบของน.ส.อรวรรณ กอเสรีกุล นักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ สจล. ที่นำไอเดียเอาวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้างอย่าง ‘มุ้งลวด’ มาออกแบบเป็นสิ่งทอแนวใหม่ ด้วยเทคโนโลยีปักฟูแบบNeedle Punching ที่คิดค้นและทดลองใหม่เพื่อนำมาใช้กับมุ้งลวดโดยเฉพาะ
ปกติรูปแบบงานปักดังกล่าว จะถูกใช้กับวัสดุจำพวกผ้า หรือหนังเท่านั้น และนำมาทำเป็นกระเป๋าที่มีสีสันสวยงาม และมีลวดลาย 3 มิติ นุ่มฟู สะท้อนให้เห็นถึงการนำวัสดุ และเทคโนโลยี ที่บางครั้งมักถูกนำไปใช้แบบซ้ำๆ ด้วยวิธีเดิมๆ เพียงอย่างเดียว มาพัฒนาผสมผสานกับงานออกแบบ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
ทั้งนี้ สจล.ได้เริ่มต้นโมเดลการเรียนการสอน ที่บูรณาการศาสตร์การออกแบบดังกล่าว เข้าสู่หลักสูตรนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อปลูกฝังแนวคิดเป็นนักออกแบบรับใช้สังคม ให้ผู้เรียนสามารถออกแบบต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ ควบคู่นวัตกรรม สู่การเป็นผู้ประกอบการหรือนักออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 0-2329-8111หรือ www.kmitl.ac.th
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ