บุญรักษ์เผยเตรียมเชิญส.บ.ม.ท./ผอ.สถานศึกษา-ครูพื้นที่หาจุดร่วม
วันที่ 20ก.พ.2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตั้งคณะทำงานศึกษา เรื่องแยกเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 42 เขตพื้นที่ฯว่า ตนได้หารือกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งได้ให้นโยบายว่าให้ สพฐ.พิจารณาตามความเหมาะสม โดยไม่ได้กำหนดว่า จะต้องเพิ่มสพม.อีกกี่เขต เมื่อพิจารณาได้แล้วให้เสนอสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พิจารณา เมื่อ สกศ.มีข้อเสนอแนะอย่างไร ให้เสนอความเห็นมายัง รมว.ศึกษาธิการ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ในส่วนของ สพฐ.ได้มอบหมายให้นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานคณะทำงานศึกษาการแยก สพม.
ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น คณะทำงานฯเสนอว่าเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพควรจะเพิ่ม สพม.ประมาณ 18 เขต แต่ยังไม่ถือเป็นข้อสรุป เพราะ สพฐ.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ ไปยัง สพม.42 เขต โดยจะต้องนำความคิดเห็นทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกัน และจะเชิญผู้แทนสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย(ส.บ.ม.ท.) ผอ.โรงเรียน และครูในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของ สพม.และไม่เป็นที่ตั้งของ สพม. ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลโดยตรงมาสอบถามว่ามีความเห็นอย่างไร
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า การเพิ่ม สพม. มีหลักการว่าจะต้องไม่เพิ่มคน ไม่เพิ่มงบฯ แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งภายใน เพื่อให้สามารถทำงานได้ และจะมีการกำหนดขนาดของเขตให้เหมาะสมกับภารกิจ โดยอาจจะแบ่งเป็นขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ตามความเหมาะสม และความจำเป็นจึงต้องรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ส่วนที่คณะทำงานเสนอเบื้องต้นว่า ควรเพิ่ม สพม.18เขตนั้นจะต้องมาคิดว่าส่วนที่เหลือ คือจังหวัดที่ไม่มี สพม. จะทำอย่างไร ซึ่งได้มีการคิดไว้เบื้องต้นว่า อาจจะทำในลักษณะเคาท์เตอร์เซอร์วิสในจังหวัดที่ไม่มี สพม.โดยงานอะไรที่ครูต้องไปติดต่อยัง สพม.ก็ให้ดำเนินผ่านเคาท์เตอร์เวอร์วิสแทนครูจะได้ไม่ต้องเดินทางข้ามจังหวัด
“ที่ต้องมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาหารือ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบด้านสอดคล้องกับความต้องการ ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีผู้เสนอว่า ควรต้องยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)บางเขตลง เพราะขณะนี้การคมนาคมสะดวกขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็มีความทันสมัยติดต่อเชื่อมถึงกันได้ง่าย แต่ สพฐ.ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเป้าหมายหลัก เพราะเป้าหมายของเราคือการเพิ่ม สพม. ให้ครอบคลุมการทำงาน แต่หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นพ้องกันว่า ควรต้องลด สพป.ลงบ้างโดยมีเหตุผลเหมาะสม สพฐ.ก็พร้อมที่จะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ เพื่อเสนอไปยัง สกศ.ต่อไป”นายบุญรักษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ