จีนจะแข่งขันกับเยอรมนีในด้านแรงงานได้อย่างไร เมื่อหนุ่มสาวชาวจีนที่มีทักษะ เอนเอียงไปกับ “กระแสนอนราบ” มากกว่าการทำงานแบบ “996”
คนจีนรุ่นใหม่ กับกระแส “นอนราบ”
ฝาน หยู่วซวน ช่างเครื่องอายุน้อยที่ได้รับการฝึกฝนทักษะ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน หรือท่องอินเทอร์เน็ต เขาทำงานที่ร้านบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งได้รับค่าจ้าง 6,000 หยวนต่อเดือน (ราว 31,280 บาท) แต่หลังจากทะเลาะกับลูกค้า ฝานจึงตัดสินใจลาออกจากงานในช่วงสองเดือนก่อน
ตั้งแต่นั้นมา ฝาน ชายวัย 20 ปี ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับ การ “นอนราบ” ด้วยการลงมือทำให้น้อยที่สุด และพยายามไม่ทำอะไร มากไปกว่าที่จำเป็น ขณะที่พ่อแม่ ยังคงตามหาตำแหน่งงานให้ลูกชายของพวกเขาอย่างไม่หยุดหย่อน
ฝานได้รับการฝึกฝนให้เป็นช่างเครื่อง ที่โรงเรียนอาชีวศึกษาในท้องถิ่น แต่เขาไม่ค่อยถนัดนัก ตลอดสามปีที่ร่ำเรียน เขาไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน และใช้เวลาไปกับ “งานอดิเรก” อย่างการสูบบุหรี่
“ผมชอบสูบบุหรี่ หลังเรียนจบเลยไปเป็นพนักงานขายในร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า” ฝาน กล่าว “แค่สองปีก็นานเกินพอ เพราะเบื่อกับการจัดการลูกค้า”
ทำงานหนัก แต่ไม่คุ้มกับค่าตอบแทน
เพื่อนร่วมชั้นหลายคนของฝาน ที่มาจากพื้นที่ชนบท ต่างได้งานเป็นช่างฝีมือและช่างเทคนิคในโรงงาน อยู่ในจังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของจีน แต่ฝานพบว่า เส้นทางอาชีพเหล่านี้ไม่เหมาะกับเขา
“ผมไม่อิจฉาพวกเขาสักนิด” เขากล่าว “เพราะต้องทำงานหนัก แต่มีเงินเดือนแค่ 10,000 หยวนต่อเดือน (ราว 52,050 บาท)”
และว่า “ราคาอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ยในตัวเมืองปักกิ่ง อยู่ที่ 100,000 หยวนต่อตารางเมตร (ราว 520,560 บาท) ผมไม่อยากเสียเวลาไปกับงานที่ทรหด โดยที่ไม่มีโอกาสก้าวหน้า”
“มันคงไม่มีตำแหน่งที่เหมาะกับผม เพราะวุฒิการศึกษาผมต่ำเกินไป” เขากล่าวเสริม
“นอนราบ” vs “996”
กรณีเช่นนี้ไม่ได้มีแค่ฝานเพียงคนเดียว ช่วงสี่สิบปีของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน กลับสร้างช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างคนรวยและคนจน ขณะเยาวชนของจีนต่างตอบโต้ ด้วยขบวนการต่อต้านทางสังคม ที่เรียกว่า ถ่าง ผิง หรือ “กระแสนอนราบ” พวกเขาปฏิเสธที่จะสานต่อวัฒนธรรม “996” ซึ่งเป็นการทำงานที่หนักเกินไป
ทั้งนี้ วัฒนธรรมการทำงานแบบ “996” มาจากทำงานตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ถึง 6 วันต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม คลื่นของหนุ่มสาวชาวจีนที่แสดงความสิ้นหวัง ผ่าน “กระแสนอนราบ” กลับถูกกวาดล้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ผู้นำระดับสูงของจีนให้คำมั่นว่าจะเพิ่มค่าแรง สำหรับแรงงานที่มีทักษะสายอาชีพ เพื่อให้พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลาง ในขณะที่ประเทศยังคงมุ่งสู่เป้าหมาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ซึ่งพลเมืองทุกคนต่างมีโอกาสที่จะร่ำรวย
เน้นย้ำก้าวสู่ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”
จีน กำลังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะอย่างมาก โดยมีเพียง 30% ของแรงงาน ที่มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสูงกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งในระดับที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
เมื่อเดือนสิงหาคม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ชี้แจงวิสัยทัศน์ของ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” เป็นครั้งแรก และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ จีนจะเพิ่มทักษะด้านทรัพยากรมนุษย์, ปรับช่องทางการเคลื่อนย้ายทางสังคมที่สูงขึ้น, กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หลีกเลี่ยง “ปฏิบัติการนอนราบ” และทำให้แรงงานที่ใช้ทักษะ “เป็นองค์ประกอบสำคัญของชนชั้นกลาง”
ตามพิมพ์เขียว ภายในปี 2025 นักศึกษาอย่างน้อย 10% ที่เรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษา จะต้องเข้าศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ระบบอาชีวศึกษาของจีน “อยู่ในกลุ่มดีที่สุดในโลก” ภายในปี 2035
จีนขาดแคลนแรงงานฝีมือในภาคการผลิต
ประเทศจีนมีโรงเรียนอาชีวศึกษา เกือบ 10,000 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวศึกษา 1,500 แห่ง โดยในปี 2020 มีนักเรียนกว่า 31 ล้านคน หรือคิดเป็น 35% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-22 ปี
ขณะที่ ข้อมูลของทางการ ระบุว่า จากจำนวนแรงงานที่มีทักษะ 200 ล้านคนในประเทศ มีเพียง 30% เท่านั้นที่มี “ทักษะขั้นสูง”
เมื่อเทียบกับเยอรมนี จีนขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในภาคการผลิต อย่างน้อย 30 ล้านคน และคาดว่า ช่องว่างจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคนภายในปี 2025
ขณะที่ ซวง ปิงฉี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษา ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า “ปัญหา คือ คนหนุ่มสาวต่างหลีกเลี่ยงภาคการผลิต”
“คำว่า ‘ผู้ใช้แรงงาน’ ในประเทศจีน เชื่อมโยงกับค่าแรงต่ำ, สถานะทางสังคมที่ด้อยกว่า, สภาพแวดล้อมการทำงานที่เลวร้าย และงานที่น่าเบื่อหน่ายในอุตสาหกรรมดั้งเดิม ด้วยภาคอินเทอร์เน็ตที่เฟื่องฟู ซึ่งนำเสนอรูปแบบการทำงานและตำแหน่งที่หลากหลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่นักศึกษาจำนวนมาก จะปฏิเสธงานในโรงงาน” เขา กล่าว
จีน–เยอรมนีให้ความสำคัญต่างกันในด้านแรงงาน
การสำรวจความคิดเห็น โดย China Youth Daily ระบุว่า 64% ของนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษา หรือราว 26,600 คนในการสำรวจทั่วประเทศ กล่าวว่า พวกเขาจะไม่ทำงานในโรงงานหรือสถานที่ก่อสร้าง เนื่องจากน่าเบื่อเกินไป, เสนอโอกาสในการพัฒนาอาชีพและเงินเดือนที่ไม่ดี หรือเพราะงานและสภาพแวดล้อมไม่น่าสนใจ รวมถึงทางเลือกในการเข้าสังคมมีอยู่จำกัด
อาชีวศึกษาในประเทศจีน มีปัญหาด้านภาพลักษณ์มาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งถูกมองว่าด้อยกว่าระดับมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปแล้ว นักเรียนที่มีคะแนนต่ำในการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย จะเข้าเรียนในโรงเรียนอาชีวศึกษา
ข้อมูลของ Xincho.cn ผู้ให้บริการข้อมูลเงินเดือนในเซี่ยงไฮ้ พบว่า เมื่อเดือนกันยายน เงินเดือนเฉลี่ยของบัณฑิตจบใหม่จากวิทยาลัยอาชีวศึกษา 30 อันดับแรกของจีน อยู่ที่ 6,276 หยวน (ราว 32,670 บาท) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชั้นนำ 100 อันดับแรก ถึง 30%
“จีนเรียนรู้จากเยอรมนีมาเป็นเวลาหลายสิบปี ในการฝึกอบรมแรงงานที่มีทักษะ แต่เหตุผลสุดท้ายที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้า ก็คือ จีนให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษา และดูถูกแรงงานที่ใช้ทักษะ ซึ่งแตกต่างจากเยอรมนี” ซวง กล่าว
พร้อมเสริมว่า การเลือกปฏิบัติต่ออาชีวศึกษาควรยุติลง โดยเริ่มจากการเพิ่มงบของรัฐบาลให้โรงเรียนดังกล่าว
เน้นพัฒนาสายอาชีพให้ทัดเทียมสายสามัญ
ข้อมูลของทางการ พบว่า เงินสนับสนุนสำหรับเครืออาชีวศึกษาในปีที่แล้ว น้อยกว่าที่มอบให้โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและมหาวิทยาลัย ถึง 40%
ซวง กล่าวว่า การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม จะช่วยให้โรงเรียนสามารถปรับปรุงหลักสูตร และสอนนักเรียนให้มีทักษะตรงตามที่บริษัทต้องการได้
จอร์จ แมกนัส ผู้ร่วมวิจัยที่ China Center ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “การเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน เป็นข้อบังคับเร่งด่วนและสำคัญอย่างยิ่ง หากจีนอยากบรรลุความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจ”
แมกนัส ยังกล่าวว่า “ทางการต้องทำให้อาชีวศึกษาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ปรับปรุงเงินทุนและองค์กร รวมถึงเพิ่มความเกี่ยวข้องกับโอกาสทางอาชีพ”
“พวกเขายังต้องกระตุ้นการกระจายรายได้ให้กับแรงงานที่มีทักษะ และเน้นย้ำว่า บริษัทเอกชนซึ่งจัดหางานส่วนใหญ่ จะสามารถขยายขอบเขตตำแหน่ง และจ่ายเงินให้กับผู้สำเร็จการศึกษากลุ่มนี้ได้” เขา กล่าว
—————
เรื่อง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: STR / AFP