ด้วยสมองและสองมือ
จากสถิติสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) พบว่าเดือนม.ค.-เม.ย. เป็นช่วงเวลาที่เกิดเพลิงไหม้มากที่สุด โดยเกิดกับอาคารประเภทบ้านพักอาศัยมากที่สุด และห้องที่เป็นจุดเสี่ยงเป็นอันดับต้นๆ คือ ห้องครัว
เนื่องจากเป็นห้องที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟสูงๆ อยู่รวมกัน มีอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ก่อให้เกิดเปลวไฟในการประกอบอาหาร และการใช้กำลังไฟฟ้าสูงกว่าห้องอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเกิดจากเชื้อเพลิงน้ำมันสำหรับประกอบอาหารและก๊าซหุงต้ม เมื่อมีประกายไฟ ความร้อนจึงทำให้ติดไฟได้ง่าย (อ้างอิงข้อมูลจาก U.S. fire statistics – US Fire Administration – FEMA)
จากข้อมูลข้างต้นจึงทำให้ นายพีระยุทธ ศรีโพธิ์ น.ส.กาญจนา สันติปาตี และน.ส.วรดา อดใจ นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกันคิดพัฒนาระบบป้องกันอัคคีภัยในห้องครัว ผ่านแอพพลิเคชัน เพื่อเป็นแบบจำลองในการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ โดย มี อ.กมลณิตย์ ภู่สร หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นที่ปรึกษาโครงการ
นายพีระยุทธ กล่าวว่า แบบจำลองป้องกันการเกิดอัคคีภัยในห้องครัว ใช้โปรแกรม Google Sketch up ย่อขนาดห้องครัวด้วยอัตราส่วน 1:10 จากขนาดห้องครัวจริง พร้อมติดตั้งระบบป้องกันและระบบแจ้งเตือน โดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ในการเขียนโปรแกรมสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆ
ประกอบด้วย อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ โดยใช้เซนเซอร์อินฟราเรด อุปกรณ์ตรวจจับแก๊ส/ควัน ด้วยเซนเซอร์ตรวจจับแก๊ส/ควัน MQ-2 อุปกรณ์ตัวรับส่งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชัน Blynk และ Line เป็นต้น
ระบบป้องกันอัคคีภัยทำงานแยกเป็น 3 เงื่อนไขคือ 1.สภาวะเพลิงไหม้ สปริงเกอร์จะพ่นสารดับเพลิง Class K เพื่อดับไฟ โดยเมื่อห้องครัวเกิดเปลวไฟ เซนเซอร์ตรวจจับเปลวไฟจะส่งสัญญาณไปที่บอร์ด Arduino Mega ประมวลผลความเข้มของเปลวไฟ เมื่ออยู่ในสภาวะเปลวไฟมากกว่าหรือเท่ากับ 30% จะสั่งให้ปั๊มน้ำทำงาน
2.สภาวะแก๊สรั่วไหล พัดลมดูดอากาศจะดูดแก๊สที่รั่วไหลออก และตัดระบบวาล์วจ่ายแก๊ส โดยเมื่อห้องครัวเกิดสภาวะแก๊สรั่วไหล เซนเซอร์ตรวจจับแก๊สจะส่งสัญญาณไปที่บอร์ด Arduino Mega ประมวลผลความเข้มของแก๊ส เมื่ออยู่ในสภาวะแก๊สมากกว่าหรือเท่ากับ 20% จะสั่งให้พัดลมดูดแก๊สออกจากห้องครัว
และ 3.สภาวะเกิดควัน พัดลมดูดอากาศจะดูดควันออกจากห้องครัว โดยเมื่อห้องครัวเกิดสภาวะควันรั่วไหล เซนเซอร์ตรวจจับควันจะส่งสัญญาณไปที่บอร์ด Arduino Mega ประมวลผลความเข้มของควันเมื่ออยู่ในสภาวะควันมากกว่าหรือเท่ากับ 10% จะสั่งให้พัดลมดูดควันออกจากห้องครัว โดยทุกสภาวะจะส่งแจ้งเตือนไปยังเจ้าของบ้านผ่านแอพพลิเคชัน Line และแสดงผลผ่านแอพพลิเคชัน Blynk
พีระยุทธ กล่าวอีกว่า จากผลการทดลองโดยใช้วิธีการแบ่งจุดจำลองสถานการณ์ทั้งหมด 13 จุด พบว่าอุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟสามารถตรวจจับเปลวไฟได้ 12 จุด คิดเป็น 92% จากทั้งหมด 13 จุด อุปกรณ์ตรวจจับแก๊ส สามารถจับแก๊สรั่วไหล โดยใช้เเก๊สกระป๋องในการทดสอบทั้งหมด 13 จุด สามารถรับแก๊สได้ 9 จุด คิดเป็น 69 % จากทั้งหมด 13 จุด อุปกรณ์ตรวจจับควันสามารถจับควันได้ปริมาณที่มีควันมาก ๆ มีการทดสอบทั้งหมด 13 จุด สามารถจับควันได้ 11 จุด คิดเป็น 84% จากทั้งหมด 13 จุด
สรุปได้ว่าการทำงานของชุดจำลองการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในห้องครัวผ่านแอพพลิเคชัน สามารถควบคุมการทำงานของชุดป้องกัน (พัดลม ปั๊มน้ำ วาล์วตัดแก๊ส) ให้ทำงานตามเงื่อนไขได้เป็นอย่างดี
ด้าน อ.กมลณิตย์ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการสร้างแบบจำลองป้องกันการเกิดอัคคีภัยในห้องครัว ว่าต้องการอธิบายถึงบทบาทของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเราที่สามารถเปลี่ยนจากห้องครัวธรรมดา ให้กลายเป็นครัวที่มีการรักษาความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
งานวิจัยนี้จะมุ่งเน้นให้กลุ่มนักศึกษาได้ศึกษาเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสร้างแอพพลิเคชันอ่านค่าเซนเซอร์ภายในห้องครัว และอุปกรณ์รับสัญญาณภายในห้องครัว เพื่อประโยชน์ในการนำความรู้นี้ไปใช้ประกอบอาชีพต่อไป
ทางสาขาวิชาฯ กำลังพัฒนาการนำวิธีการเชื่อมต่อและส่งสัญญาณแบบ WiFi มาใช้เพื่อง่ายต่อการเดินระบบทั้งหมดเมื่อนำมาใช้ในบ้านเรือนประชาชน และเลือกใช้เซนเซอร์ตรวจจับควันให้มีค่าที่เสถียรมากกว่าเดิม เป็นการเพิ่มความเสถียรของระบบให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผลงานการออกแบบนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (Technology and Innovation to the TGGS STI Contest 2019) จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในชื่อผลงาน Model Of Fire Protection System For Kitchen Through Mobile Application
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อ.กมลณิตย์ ภู่สร โทรศัพท์ 090-986-9427
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ