โควิด วัคซีนฉีดไขว้ได้ผล! อังกฤษวิจัยชี้ชัดแอสตร้าฯไปไฟเซอร์ภูมิทะลักยิ่งกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
โควิด – วันที่ 28 มิ.ย. บีบีซีรายงานผลการศึกษาล่าสุด การสลับแบรนด์วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ว่าการฉีดวัคซีนเข็มแรกจากแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ นั้นสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ในเกณฑ์ดี สามารถป้องกันไวรัสได้
การศึกษาดังกล่าวเป็นผลจากโครงการฉีดสลับวัคซีนเพื่อการเปรียบเทียบหาระดับภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย (Com-Cov) ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยผลการศึกษาล่าสุดนั้นเป็นการสลับกันระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์
ผลลัพธ์ที่ได้ ระบุว่า การสลับทุกรูปแบบของทั้งสองยี่ห้อข้างต้นได้ผลดีต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งถือเป็นข่าวดี เพราะจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับโครงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
การทดสอบนี้ยังบ่งชี้เบื้องต้นว่า บุคคลที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 2 เข็ม จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีกหากได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนยี่ห้ออื่น
ศาสตราจารย์โจนาธาน วาน-แทม รองประธานฝ่ายสาธารณสุข (deputy chief medical officer) ของอังกฤษ กล่าวว่า ยังไม่มีเหตุผลให้อังกฤษต้องปรับแผนการฉีดยี่ห้อเดียวกัน 2 เข็ม เนื่องจากปริมาณวัคซีนยังมีเพียงพอ
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ได้มานี้เป็นประโยชน์สำหรับอนาคต เพราะการฉีดสลับยี่ห้อจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับโครงการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน โดยเฉพาะกับประเทศที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัคซีน
บางประเทศมีการอนุญาตให้ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อแล้ว เช่น สเปน และเยอรมนี ที่ให้ประชาชนเลือกฉีดวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่ 2 ต่อจากแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการเกิดลิ่มเลือดที่หาได้ยาก ในบุคคลอายุน้อย
รายงานระบุว่า การฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันประเภทแอนติบอดี และเม็ดเลือดขาวชนิด ที-เซลล์ ให้สามารถสกัดกั้นและฆ่าเชื้อไวรัสได้
สำหรับรายละเอียดผลการศึกษาข้างต้น ใช้กลุ่มอาสาสมัคร 850 คน อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์ โดยแต่ละเข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ พบว่า แอสตร้าเซนเนก้าไปไฟเซอร์กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าไฟเซอร์ไปแอสตร้าเซนเนก้า
โดยการฉีดสลับยี่ห้อทั้งสองข้างต้นไม่ว่ารูปแบบใดสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันประเภทแอสติบอดีได้ปริมาณมากกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
การตอบสนองของภูมิคุ้มกันประเภทแอนติบอดีที่สูงที่สุด คือ ไฟเซอร์ 2 เข็ม ขณะที่การตอบสนองของภูมิคุ้มกันประเภทเม็ดเลือดขาวชนิด ที-เซลล์ ที่สูงที่สุด คือ การฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปไฟเซอร์
ศ.แมทธิว สเนป หัวหน้าโครงการ ระบุว่า ผลการศึกษาที่ออกมานั้นไม่ได้ทำให้นโยบายการฉีดวัคซีนยี่ห้อเดิม 2 เข็มของอังกฤษถูกด้อยค่าลง เนื่องจากเป็นที่ทราบแน่ชัดอยู่แล้วว่า แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงได้จากโควิด รวมถึงสายพันธุ์เดลต้าด้วย หากฉีดเข็ม 2 ห่างจากเข็มแรก 8-12 สัปดาห์
ทว่า ผลการศึกษานั้นเป็นหลักฐานที่สรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์ ในระยะเวลาเพียง 4 สัปดาห์นั้นได้ผลดีต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกันกับการเว้น 8-12 สัปดาห์ ในแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ส่วนผลการศึกษาการเว้น 12 สัปดาห์ระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์จะทราบในเดือนก.ค.นี้
สรุปแล้วเข็ม 3 ควรต้องฉีดหรือไม่
วันเดียวกัน มีอีกผลการศึกษาหนึ่งที่เตรียมตีพิมพ์เผยแพร่ บ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 3 โดยให้เว้นจากเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลา 6 เดือน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าประชาชนควรได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ก่อนฤดูหนาวนี้ (เป็นฤดูที่ไวรัสอาจระบาดได้มากขึ้น) เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน 2 เข็มจะต้องใช้เวลานานเพียงใดจึงจะลดลงถึงระดับที่ควรฉีดกระตุ้นเพิ่ม
ศ.พอล ฮันเตอร์ จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย กล่าวว่า คำถามที่สำคัญขณะนี้เป็นเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยเข็มที่ 3 โดยคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้สูงอายุ ที่จะได้รับ หากทางการตัดสินใจจะฉีดเข็มที่ 3 จริงๆ แต่มองว่าควรได้ฉีดไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 แทนแอสตร้าฯ ซ้ำอีก