- นิก ทริกเกิล
- ผู้สื่อข่าวสุขภาพ
สัปดาห์หน้าจะมีการยกเลิกข้อจำกัดที่สำคัญหลายอย่างในอังกฤษ รวมถึงการอนุญาตให้คนมาพบปะกันในบ้านได้ ส่วนอื่น ๆ ในสหราชอาณาจักรก็จะมีการดำเนินการในขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน
นั่นหมายความว่า หน้าที่ในการควบคุมไวรัสไม่ให้ระบาดจะตกอยู่ที่วัคซีน แทนที่จะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคมและข้อจำกัดต่าง ๆ วัคซีนได้ผลดีแค่ไหน ขณะนี้มีภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรมากพอที่จะปกป้องพวกเราทุกคนหรือยัง
วัคซีนได้ผลอย่างดีเยี่ยม
สหราชอาณาจักรได้ประโยชน์จากการให้วัคซีนที่รวดเร็วและภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบัน ประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 3 รับวัคซีนครบโดสแล้ว ส่วนอีก 1 ใน 3 รับไปแล้ว 1 โดส
ในหมู่คนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และคนที่อายุน้อยกว่านี้แต่มีโรคประจำตัว ซึ่งการเสียชีวิตจากโควิดเกิดขึ้นในคนกลุ่มนี้ 99% พวกเขาได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว 95%
วัคซีนโดสแรกจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ส่วนโดสที่สองจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้คงอยู่ยาวนานขึ้น ข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลซึ่งได้มาการให้วัคซีนแก่ประชาชน พบว่า การให้วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค หรือ อ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้มากถึง 70% และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้มากยิ่งกว่านั้นอีก
ข้อมูลด้านประสิทธิผลของวัคซีนหลังจากมีการให้ไปแล้วสองโดสเพิ่งออกมา และเป็นไปตามที่คาดไว้ คือ ภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นให้คงอยู่ต่อไป สำหรับวัคซีนของไฟเซอร์ ซึ่งมีการให้ก่อนวัคซีนชนิดอื่น ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตลงถึง 97%
ยิ่งไปกว่านั้น คนที่รับวัคซีนแล้ว แต่ยังติดเชื้ออยู่ คาดว่า มีโอกาสในการแพร่เชื้อไวรัสต่อไปลดลงราวครึ่งหนึ่ง
วัคซีนกำลังใช้งานอย่างได้ผลดี และเป็นความหวังของคนทั้งโลก เป็นการยืนยันถึงผลการทดลองที่มีมาก่อนหน้านั้น
เราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ไหม
ความจริงแล้ว ผลของวัคซีนดีมาก ช่วยเพิ่มโอกาสที่สหราชอาณาจักรจะมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า เชื้อไวรัสไม่น่าจะแพร่กระจายอีก เพราะแทบไม่มีคนได้รับเชื้อไวรัสแล้ว
เซอร์ จอห์น เบลล์ สมาชิกของคณะทำงานด้านวัคซีนของรัฐบาล เชื่อว่า เราอาจจะอยู่ที่ “จุดสูงสุด” แล้วในตอนนี้
แต่มันเป็นสมการที่ซับซ้อนและมีปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลกระทบด้วย ปริมาณภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของคนที่เคยป่วยเป็นโควิดก็มีบทบาทสำคัญ
ข้อมูลในเดือน เม.ย. ที่ตีพิมพ์โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ บ่งชี้ว่า ผู้ใหญ่เกือบ 7 ใน 10 คน มีสารแอนติบอดีโควิด ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าที่เกิดจากการฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียว
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ปฏิกิริยาของประชาชน แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิงในเดือน มิ.ย. ตามที่ได้ระบุไว้ แต่ก็ไม่แน่ชัดว่า ผู้คนจะกลับมามีพฤติกรรม “ตามปกติ” ได้เร็วแค่ไหน
สิ่งที่แน่ชัดคือ ปริมาณไวรัสที่แพร่กระจายอยู่มีระดับที่ต่ำมาก และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีการยกเลิกล็อกดาวน์ในช่วงแรก ๆ
นี่จะเพียงพอที่จะหยุดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้าหรือไม่ ยังต้องรอดูอยู่ต่อไป
นักวิทยาศาสตร์เตือนมาโดยตลอดว่า การผ่อนคลายในอังกฤษ, สกอตแลนด์ และเวลส์ ในวันจันทร์ที่ 17 พ.ค. นี้ อาจจะทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะไวรัสน่าจะมีการแพร่ต่อกันเมื่อให้คนมาอยู่รวมกันในบ้านได้
ดร.อาดัม คูชาร์สกี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่วิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) กล่าวว่า แต่ก็มีเหตุผลที่พอจะหวังได้ว่า การใช้เพียงวัคซีนก็อาจจะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อได้
“มันเป็นไปได้ว่า เราจะอยู่ในสถานการณ์ที่ [อัตราการติดเชื้อไม่เพิ่มสูงขึ้น] ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอื่น ๆ หลายอย่าง” เขากล่าว
“วัคซีนกำลังทำงานอย่างได้ผลดี และเราสามารถค่อย ๆ ผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้ได้ใช้เวลาช่วงฤดูร้อนอย่างมีความสุขได้ภายในประเทศ”
การกลายพันธุ์ทำให้เกิดความไม่แน่นอน
ดร.คูชาร์สกี กล่าวว่า สิ่งที่ยังเป็นปริศนาสำคัญคือ ไวรัสกลายพันธุ์ ที่พบในบราซิล แอฟริกาใต้ และอินเดีย ดูเหมือนจะสามารถเลี่ยงการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากรับวัคซีนได้
แต่เรื่องนี้มาจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ มากกว่าจะมาจากหลักฐานในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งทำให้ตีความยาก เพราะส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่เรื่องสารแอนติบอดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน
“ข้อมูลไม่ปะติดปะต่อ ทำให้ยากที่จะรู้ได้อย่างแน่นอนว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป”
เขาบอกว่า “สถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุด” คือ วัคซีนสูญเสียความสามารถในการหยุดยั้งการติดเชื้อ แต่สามารถที่จะป้องกันการมีอาการป่วยรุนแรงได้
หลักฐานที่ได้มาจากโลกแห่งความเป็นจริงบ่งชี้ว่า นี่เป็นกรณีที่จะเกิดขึ้นได้ การศึกษาหนึ่งในกาตาร์ระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค ยังคงใช้ได้ผลในการป้องกันการป่วยรุนแรงและสูญเสียความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลมากที่สุดคือ การป้องกันไวรัสกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้
ด้าน ศ.คริสตินา เพเกิล ผู้อำนวยการวิจัยทางการแพทย์มหาวิทยาลัยลอนดอนซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาตร์อิสระเพื่อเหตุฉุกเฉิน ต้องการให้สหราชอาณาจักรดำเนินการอย่างระมัดระวังต่อไป และอย่าเพิ่งผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ จนกว่าผู้ใหญ่ทุกคนจะได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ซึ่งคาดว่าต้องรอถึงสิ้นเดือน ก.ย.
เธอยังเรียกร้องให้มีการปิดพรมแดนประเทศเช่นเดียวกับออสเตรเลียด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการนำเข้าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ด้วย
“เรากำลังลดความเสี่ยงของโควิด”
แต่เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ก็ต้องกลับมาถกเถียงกันเรื่องสัดส่วนที่สมเหตุสมผล ในทางทฤษฎี มีความเสี่ยงว่าไวรัสอาจจะกลายพันธุ์ได้มากพอจนถึงขั้นที่ทำให้วัคซีนใช้งานไม่ได้ผล และทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น
แต่การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในทันทีทันใดมีความเป็นไปได้มากแค่ไหน เมื่อเทียบกับการค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงโดยใช้ระยะเวลาหลายปี ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับไวรัสโคโรนาอยู่แล้ว ทำให้มีเวลาในการพัฒนาวัคซีนให้ทันสมัยและตามทันไวรัส
ศ.นีล เฟอร์กูสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นผู้ทำแบบจำลองจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ในครั้งแรก กล่าวว่า นั่นเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด และไม่น่าจะเกิดขึ้น ขณะนี้สหราชอาณาจักร “น่าจะอยู่บนหนทางอันมั่นคงในการออกจากการระบาดใหญ่มากกว่า”
ดร.มูเกอ ซีวิก จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ เห็นด้วย เธอเล่าว่า จากการได้วิจัยไวรัสกลายพันธุ์ เราควรจะมีความมั่นใจได้จากสิ่งที่ได้เห็น ซึ่งมีหลักฐาน “บ่งชี้อย่างหนักแน่น” ว่า วัคซีนยังคงใช้ได้ผลดีอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ในแง่ของการป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต
กรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจจะมีการแพร่กระจายในระดับที่ต่ำต่อเนื่อง แต่ความสำเร็จของโครงการให้วัคซีนทำให้โอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักไม่น่าจะเกิดขึ้นในตอนนี้
“เราอยู่ในจุดที่ดีจริง ๆ” ดร.ซีวิก กล่าว “เรากำลังลดความเสี่ยงของโควิด”