ตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเปิดให้เกลี่ยข้าราชการครู ซึ่งไม่มีใบอนูญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ มาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) อาจเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติศึกษานิเทศก์ ตามที่เคยปฏิบัติมาด้วยความยากลำบากนั้น
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ออกมาเพื่อช่วยเร่งรัดขับเคลื่อนงานของ ศธจ.ในระยะเริ่มแรก ซึ่งการที่จะลงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ตัวจริงได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขมาตรฐานตำแหน่งของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไม่ได้หย่อนมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ มี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดรายละเอียดในการเข้าสู่ตำแหน่งที่ไม่สอดคล้องกันคือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ระบุมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ว่าต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา ดำรงตำแหน่ง “ครู” มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี และ 2 ปี สำหรับปริญญาโทขึ้นไป มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ เป็นต้น
ขณะที่มาตรฐานวิชาชีพศึกษานิเทศก์ของคุรุสภา ระบุวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาโท มีประสบการณ์สอนไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือบริหารการศึกษารวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น ดังนั้น คปภ.จึงแจ้งให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปพิจารณาว่าควรใช้แบบไหน เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เมื่อประกาศรับสมัครก็จะมีคนสมัครน้อยมาก ปัจจุบันตามกรอบโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีตำแหน่ง 4,715 อัตรา มีตัวจริง 2,958 คน, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีตำแหน่งศึกษานิเทศก์ 62 อัตรา มีตัวจริง 48 คน เมื่อแต่ละที่มีศึกษานิเทศก์ ไม่ครบตามกรอบก็มีการให้ข้าราชการครู มาช่วยราชการอยู่ในทุกหน่วยศึกษานิเทศก์ แต่การที่จะลงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ตัวจริง ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรฐานตำแหน่ง ซึ่ง ศธจ.ก็ต้องปฏิบัติเช่นกัน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ