คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”
บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ดินเป็นดินร่วนปนทราย เส้นทางสัญจรบางช่วงเป็นหินลูกรัง ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาวภูไท ชาวบ้านมีการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีผ่านวิถีชีวิต การแต่งกาย และภาษาพูด ที่เป็นเอกลักษณ์ชาวภูไท
ในด้านอาชีพ 90% เป็นเกษตรกร ทำนา ปลูกข้าว ปลูกแคนตาลูป แตงไทย พริก และเห็ด เพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดและจำหน่ายให้กับผู้ที่มารับซื้อถึงบ้าน
ดร.พรเทพ ปัญญาแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า การจัดโครงการบริการวิชาการ เป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี โดยได้รับนโยบายจาก ผศ.ดร.สุริยา แก้วอาษา คณบดีที่ต้องการให้เป็นภาพที่ชัดเจน ได้จัดสรรงบฯ 200,000 บาท ซึ่งได้นำมาสร้างประโยชน์กับ 1 หมู่บ้าน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะตั้งต้นให้แล้วให้ชาวบ้านสามารถต่อยอดให้มีรายได้ทั้งปี
จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด (ระบบอัตโนมัติ) ชุมชนนวัตกรรม คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ขนาด 4×8 เมตร 2 โรงเรือน บรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้โรงเรือนละ 4,500 ก้อน ได้แก่ เห็ดนางฟ้า และเห็ดขอนขาว เพื่อให้ชาวบ้านเพาะและขายได้ตลอดปี โดยจะติดตั้งระบบให้น้ำอัตโนมัติ และระบบควบคุมอุณหภูมิ
ชาวบ้านมีหน้าที่เพียงดูแลว่าระบบยังทำงานตามหรือไม่ และสามารถเก็บเห็ดไปขายได้เลย เมื่อมีรายได้เข้ามาแล้ว คณะฯ จะต่อยอดด้านบริหารธุรกิจ โดยจะเข้ามาช่วยเรื่องการทำบัญชี รายรับ รายจ่าย การทำการตลาด เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน โดยจะติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อรายงานให้คณะกรรมการรับทราบทุก 3 เดือน เพื่อหาความเป็นไปได้ในการสานต่องานอื่นๆ ให้กับชาวบ้านต่อไป
ดร.พรเทพกล่าวว่า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตั้งใจอยากให้หมู่บ้านพอกใหญ่เป็นต้นแบบการบริการวิชาการที่สร้างสรรค์และอยากให้คนในหมู่บ้านจริงจัง มีส่วนร่วม สามัคคี และถ้าทำได้อย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ คณะฯ จะมีสาขาศิลปศาสตร์ที่ทำด้านท่องเที่ยว และสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่สามารถทำเรื่องของการเพาะเชื้อเห็ดเองได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ชาวบ้านลดต้นทุนซื้อก้อนเห็ดได้
ทั้งนี้ คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้ทำโรงเรือนเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติร่วมกับชาวบ้าน และได้ทำพิธีส่งมอบโรงเรือนอย่างเป็นทางการ พร้อมกับนำนักศึกษา คณาจารย์สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิศวกรรมโยธา และสาขาบริหารธุรกิจ (โปรแกรมการบัญชี) มาช่วยเหลือชาวบ้านตามศาสตร์ที่เรียนมา ได้แก่
1) บริการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตร 2) การผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดด้วยเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยขนาดเล็ก 3) การบริการซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง ฯลฯ 4) บริการซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด 5) การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการจดบันทึกและสรุปรายจ่าย รายได้ ผลกำไรที่เกิดขึ้น ซึ่งมีชาวบ้านบ้านพอกใหญ่ หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 10 เข้าร่วมกว่า 200 คน
นายเกียรติศักดิ์ บุตรแสง ผู้ใหญ่บ้านบ้านพอกใหญ่หมู่ 7 กล่าวว่า แต่เดิมหมู่บ้านได้งบฯจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 50,000 บาท ตนและชาวบ้านตั้งใจอยากทำโรงเรือนเพาะเห็ด จึงใช้พื้นที่บริเวณคอกวัวทำโรงเรือนแบบง่ายๆ ช่วยกันดูแลรดน้ำ พอได้ผลผลิตก็นำไปจำหน่าย
แต่ด้วยภารกิจของแต่ละคน ที่ต้องทำงานเลี้ยงดูคนในครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลามาดุแลบ้าง ขาดการรดน้ำบ้าง ทำให้เห็ดเหี่ยวเฉา บ้างก็ไม่ออกดอกและเชื้อในก้อนเห็ดก็หมดลงในที่สุด สุดท้ายต้องรื้อโรงเห็ดออกเพื่อคืนที่ที่เป็นคอกวัวให้เจ้าของเลี้ยงวัวต่อไป
ในช่วงเวลานั้น ได้รับการติดต่อจากคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ที่เข้ามาสำรวจความต้องการและความเป็นไปได้ในการทำงานบริการวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน จึงมีมติจากชาวบ้านว่าต้องการโรงเรือนเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ และนำเงินส่วนกลางของหมู่บ้านที่มีไปซื้อก้อนเห็ดเข้ามาช่วยอีกทาง
ผู้ใหญ่บ้านบ้านพอกใหญ่ฯว่า “วันนี้โรงเรือนเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติสำเร็จลงได้ จากความมีน้ำใจ ความร่วมแรงร่วมใจของนักศึกษาและอาจารย์ทุกท่าน มันเป็นเสมือนความฝันของชาวบ้านเกิดขึ้นแล้วจริงๆ เราจะมีโรงเรือนเพาะเห็ดที่มีระบบรดน้ำอัตโนมัติ จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความสามัคคีในหมู่บ้าน เห็ดที่ได้จะมีคนมารับถึงที่ ในอนาคตเราอยากขายเองจะได้ไม่ผ่านคนกลาง ชาวบ้านก็สะดวกในการหาซื้อเห็ดจากส่วนกลางรับประทานในครอบครัว
ในอนาคตเราอยากได้คำแนะนำในเรื่องการตลาด การขายอย่างไรให้ได้กำไรมากที่สุด รวมถึงการเข้ามาให้ความรู้ คำแนะนำเรื่องการเกษตร การปลูกผัก การใช้ปุ๋ยเคมี ในการปลูกแคนตาลูป แตงกวา ชาวบ้านที่นี่ล้วนแต่อยู่กับยาและสารเคมีทั้งสิ้น ผมจึงอยากให้ผู้ที่มีความรู้เข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ถึงแก่นแท้จริงๆ ชาวบ้านจะได้ตระหนักในการใช้สารเคมี และการปลูกพืชทดแทน การปลูกพืชบำรุงดิน
สุดท้ายขอขอบคุณ คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ขอบคุณทุกคนมาทำงานด้วยใจ ด้วยความทุ่มเท ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่มอบให้ชาวบ้านบ้านพอกใหญ่ครับ”
ประชาสัมพันธ์ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ