อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” หรือ “โอมิครอน” ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวม ATK รายวันพุ่งสูงเกือบ 6 หมื่นราย รวมทั้งยอดผู้เสียชีวิต ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
(5 มีนาคม 2565) “หมอยง” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า ตามกฎเกณฑ์ของวิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตที่แพร่พันธุ์เร็วและปรับตัวได้เหมาะสม ก็จะถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของ covid19 มาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึง “โอไมครอน” ที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว และมีความรุนแรงน้อยกว่า
สายพันธุ์ก่อนหน้านี้โดยตลอด กระจายได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนมากกว่าทุกสายพันธุ์ที่ผ่านมา
“หมอยง” ระบุว่า สายพันธุ์ “โอมิครอน” เอง ก็มีการวิวัฒนาการ เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 BA.2 รู้กันว่าสายพันธุ์ BA.2 แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า แต่ความรุนแรงของโรคไม่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้ขณะนี้พบสายพันธุ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย BA.2 และคงจะมาแทนที่ทั้งหมดในเร็ววันนี้ ดังแสดงในรูปที่ศูนย์ได้ดำเนินการศึกษามาโดยตลอด ถ้าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ และการเลือกเฟ้นที่เหมาะสม เพื่อให้มนุษย์และไวรัสอยู่ด้วยกันได้ ตัวไวรัสเองก็จะต้องลดความรุนแรงลง ไม่ทำร้ายเจ้าถิ่นที่อาศัยอยู่ มนุษย์หรือเจ้าถิ่นก็จะต้องมีการปรับตัวในการติดเชื้อ โดยมีภูมิต้านทานและลดอาการของโรคลงให้มากที่สุด เพื่ออยู่ด้วยกันได้ตลอดไป
สายพันธุ์ “โอมิครอน” ความรุนแรงมีอัตราการเสียชีวิตสำหรับประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 0.1% หรือหนึ่งในพันราย ของผู้ที่ติดเชื้อ (รวม ATK) เราเองก็หวังให้เป็นเช่นนั้น และคงต้องติดตาม ตรวจสอบทั้งระบบภูมิต้านทานของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของไวรัส อยู่ตลอดเวลา ขณะนี้มีการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสนี้ มากที่สุดในบรรดาดาวไวรัสที่มีมาในอดีต และเป็นการถอดรหัสไวรัสทั้งตัวด้วยในการเฝ้าระวัง และศึกษาพฤติกรรมของไวรัส รวมทั้งศึกษาระบบภูมิต้านทานของมนุษย์ด้วย