</p>
2 นักวิจัยไทยและทีมสำรวจ เตรียมตะลุยขั้วโลกเหนือ สำรวจใต้ทะเลเก็บข้อมูลภาวะโลกร้อน-ขยะพลาสติกขนาดเล็ก หลังจากประสบความสำเร็จบุกขั้วโลกใต้มาแล้ว
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ร่วมด้วยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการ “การสำรวจวิจัยขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย”
โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย นายเวการ์ด โหล์เมลีด รักษาการแทนเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย นางกรรณิการ์ เฉิน ผอ.สำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช. และ ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมงาน
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จเยือนเขตแอนตาร์กติก หรือขั้วโลกใต้ ในเดือนมี.ค.2556 และยังเคยเสด็จไปยังเขตอาร์กติก หรือ ขั้วโลกเหนือ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลกจากขั้วโลกใต้สู่ขั้วโลกเหนือ เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้สูงขึ้นและทัดเทียมนานาประเทศ และยังเปิดโอกาสให้ส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการส่งเสริมความยั่งยืนในงานศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศ
“ที่ผ่านมาไทยมีการศึกษาวิจัยขั้วโลกใต้ แต่ในครั้งนี้ไทยจะเป็นการขยายผลดำเนินการโครงการสำรวจขั้วโลกเหนือ ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริฯถือว่ามีความสำคัญเพราะทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เปรียบเหมือนตัวชี้วัดชั้นบรรยากาศ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยโดยคณะสำรวจครั้งนี้ก็จะนำไปเป็นข้อมูลในการทำงานต่อไป”ศ.ดร.ไพรัช กล่าว
นางกรรณิการ์ กล่าวถึงโครงการสำรวจขั้วโลกเหนือของประเทศไทย เป็นโครงการที่น่าสรวจและมีประโยชน์ ควรแก่การขยายผลการเรีบนรู้ไปสู่วงกว้าง ซึ่งเมื่อคณะสำรวจเดินทางกลับมาก็จะมีการรวบรวมข้อมูล จัดพิมพ์หนังสือ สมุดภาพ ที่เกี่ยวกับขั้วโลกเหนือ เพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชนและเยาวชนไทย เป็นการสร้างความตระหนักรู้ จิตสำนึก และความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพโลก สภาพอากาศ เรื่องภาวะโลกร้อน และขยะพลาสติกทางทะเลที่มีผลต่อมหาสมุทรอาร์กติก เพื่อร่วมกันดูแลสภาพแวดล้อม
รศ.ดร.ปมทอง กล่าวว่า ในฐานะที่จุฬาฯ มีบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยแกนนำด้วยมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ผ่านการดำน้ำสำรวจเพื่อศึกษาวิจัยในเขตขั้วโลกใต้มากที่สุด และยังมีเครือข่ายต่างประเทศที่ร่วมศึกษาวิจัยขั้วโลก ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น จึงเห็นความสำคัญในการขยายผลโครงการสู่การวิจัยขั้วโลกเหนือ จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมภารกิจนี้ เป็นโอกาสสำคัญของยกระดับการวิจัย การสร้างความเข้มแข็งในวิชาและหลักสูตรนานาชาติ ที่เกี่ยวกับการศึกษาขั้วโลกและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยไทย ให้ทัดเทียมนานชาติ ยังหวังให้เกิดผลในการตระหนัก และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศและของโลก
ทั้งนี้ คณะสำรวจทั้ง 13 คน เป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์ดำนำ้ขั้วโลกใต้ 2 คน ได้แก่ รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนิสิตปริญญาเอก เป็นคณะผู้วิจัยหลัก และยังมีฝ่ายสนับสนุน เป็นทีมปฏิบัติการดำน้ำและถ่ายทำสารคดีทางบกและทางน้ำ เนื่องจากคณะสำรวจ จะต้องดำน้ำเพื่องานวิจัยในทะเลขั้วโลกเหนือของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและครั้งแรกในการดำน้ำขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของทวีปเอเชีย
สำหรับ รศ.ดร.วรณพ ในฐานะทีมวิจัย กล่าวว่า คณะสำรวจจะเริ่มปฏิบัติการสำรวจตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-12 ส.ค.2561 โดยวัตถุประสงค์สำคัญของการสำรวจครั้งนี้ คือ การศึกษาผลของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ทะเลอาร์กติก โดยจะมีการปฏิบัติการดำน้ำเพื่อสำรวจวิจัยใต้ทะเลครั้งแรกของเอเชีย ซึ่งการดำน้ำขั้วโลกเหนือจะแตกต่างจากขั้วโลกใต้ มีการปฏิบัติงานบนเรือทะเลชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก โดยคณะสำรวจจะเก็บข้อมูลสภาพน้ำ สัตว์ ตะกอนน้ำ เพื่อมาทำการศึกษาวิเคราะห์ เป็นข้อมูลเปรียบเทียบสภาพของขั้วโลกใต้และขั้วโลกเหนือ มีความเปลี่ยนแปลงเช่นไร และมีการบันทึกภาพถ่ายทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับการสำรวจและวิจัย และนำกลับมาจัดทำหนังสือและสมุดภาพเกี่ยวกับขั้วโลกเหนือเผยแพร่ด้วย
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.สุชนา กล่าวถึงภารกิจครั้งนี้จะต้องดำน้ำสำรวจในขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำแข็ง น้ำอุณหภูมิ 0-1 องศา มีความเย็นมากจึงต้องเตรียมพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงอุปกรณ์ ชุดดำน้ำ ถุงมือที่ทำให้ร่างกายไม่เปียกน้ำและสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีเพื่อการสำรวจ
ทั้งนี้ พื้นที่อาร์กติกถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก เหมาะในการสำรวจตรวจสอบปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกในปัจจุบัน เช่น ปรากฏการณ์เรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ ขยะทางทะเล จุดนี้จึงเหมือนเป็นภาชนะรับของเสีย แต่ก็เป็นปราการด่านแรกที่จะช่วยเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเราได้
…การสำรวจขั้วโลกเหนือครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ทั้งในแง่การศึกษาปัญหาโลกร้อน ปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในขั้วโลกเหนือ ซึ่งผลการศึกษานี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ปัญหาทั้งหมดแต่ก็นำไปประกอบการศึกษาและเป็นข้อมูลในการวางแผน เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ