แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะทุเลาเบาบางลงไปแล้วด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของวัคซีนที่กำลังกระจายส่งไปช่วยคนทั่วโลก ถึงกระนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเดินทางสัญจร การท่องเที่ยวของผู้คนก็ยังต้องมีความระมัดระวัง ไม่ได้ปล่อยเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งการเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศก็ยังต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของประเทศนั้นๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป จะอย่างไรก็ตาม สถานการณ์อย่างนี้ สองศรีพี่น้องครอบครัว “สกุลตั้งไพศาล” เห็นว่าเป็นโอกาสทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการเดินทางไปเรียนที่ประเทศอังกฤษในระดับมัธยม หรือไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ปริญญาเอก
“ศุภนิดา-ชินวัฒน์ สกุลตั้งไพศาล” สองพี่น้องทายาทนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากจังหวัดหนองคาย ถือโอกาสที่สถานการณ์ไวรัสเริ่มผ่อนคลาย จับมือกันสร้างธุรกิจรับให้คำปรึกษาและแนะแนวการเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ โดยมีหลักของการทำงาน “ไม่แสวงหากำไรแต่ทำด้วยใจรัก” เป็นธุรกิจที่ “ศุภนิดา” ผู้พี่สาวอธิบายถึงที่มา ว่าเพราะมีความเชื่อในปรัชญาที่ว่า “Knowledge is power” การศึกษาคือพลัง คืออำนาจชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ และเป็นรากฐานของความสำเร็จ ไม่มีการลงทุนอะไรที่ดีไปกว่าลงทุนทางด้านการศึกษา อีกทั้งเห็นจากเพื่อนๆ รุ่นน้อง รวมถึงเครือญาติ คนรู้จักทั้งหลาย เวลาจะไปเรียนต่างประเทศ กลายเป็นเรื่องลำบากยุ่งยากและสร้างความกดดันให้กับหลายๆ คน ทั้งตัวเด็กเองและผู้ปกครอง ดังนั้น จึงคิดกับน้องชายว่าอยากทำธุรกิจนี้ รับอาสาทำหน้าที่เป็น “ติวเตอร์” หรือ “โค้ช” แก้ปัญหาให้กับคนที่อยากไปเรียนเมืองนอก หรือไปศึกษาต่อตั้งแต่ระดับชั้นประถม มัธยม ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา และนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก รวมถึงประชาชนคนทั่วไปที่สนใจไปเพิ่มเติมความรู้
“…ทีแรกก็ทำแบบไม่คิดจะเป็นธุรกิจ ทำแค่ช่วยเหลือคน กระทั่งมีผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งเห็นว่าไม่ควรทำฟรี แต่ควรทำเป็นธุรกิจได้แล้ว เพราะเราทำกันอย่างจริงจัง ทุ่มเทมากๆ ดูแลให้ทุกอย่างเริ่มตั้งแต่ศูนย์แบบไม่รู้อะไรเลยจนกระทั่งเรียนจบ เพื่อให้คนที่มาปรึกษากับเราได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เมื่อสำเร็จมันเป็นความสุขใจทั้งของเราและของคนที่มาขอคำปรึกษา นี่คือที่มาของธุรกิจ…”
ศุภนิดาและชินวัฒน์ สองคนพี่น้องไปเรียนที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุยังน้อย ชินวัฒน์-น้องชาย หลังจบชั้นประถมจากเซนต์คาเบรียลได้เรียนในระบบอังกฤษตั้งแต่มัธยม จบปริญญาตรีและปริญญาโท เกียรตินิยมทั้งสองใบ จาก LSE-London School of Economics and Political Science ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นเลขานุการ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และเป็นอุปนายก สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ ชินวัฒน์เป็นลูกศิษย์อาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน เช่น Sir Julian Le Grand ราชบัณฑิต, Sir Christopher Pissarides เจ้าของรางวัลโนเบล Professor Nicholas Barr นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เป็นต้น จึงรู้และซึมซับวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนที่นั่นเป็นอย่างดี เวลามีลูกเพื่อนคุณแม่หรือรุ่นน้องจะไปเรียนต่อที่อังกฤษมักจะมาปรึกษาขอคำแนะนำเสมอๆ ซึ่งชินวัฒน์บอกว่าหากนับตั้งแต่แรกจนถึงตอนนี้ “สัก 40-50 คนได้มั้ง…”
ขณะที่ “ศุภนิดา” พี่สาว จบปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วไปต่อปริญญาโท ด้านมานุษยวิทยา ที่ SOAS-University of London มหาวิทยาลัยด้านมานุษยวิทยาอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง เช่น ออง ซาน ซูจี, สมเด็จพระราชาธิบดีซาลาฮุดดีน แห่งมาเลเซีย, เจ้าชายอับดุล มาทีน แห่งบรูไน, ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ อดีตองคมนตรี เป็นต้น และยังเป็นประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปัจจุบัน
ก่อนเข้าเรื่องธุรกิจ ทั้งสองคนออกตัวที่บอกว่าธุรกิจไม่แสวงหากำไร แต่ทำเพราะอยากช่วยคนนั้น อาจจะดูเหมือนโลกสวย แต่ยืนยันว่าเป็นความตั้งใจจริงแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นถึงความยากลำบากของคนที่ต้องไปเรียนในต่างประเทศ หรือคนที่ไม่อยากไปแต่ต้องตามใจพ่อแม่ผู้ปกครอง สุดท้ายแล้วมักจบลงด้วยความผิดหวังหรือล้มเหลว ไม่ได้ในเส้นทางที่วางไว้ เพราะความไม่คุ้นเคย และไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนอะไรดี หรือเรียนอะไรจึงจะเหมาะสมกับตัวเอง
ที่จริงแล้วธุรกิจที่ว่านี้ไม่ได้ตั้งเป็นรูปของบริษัทแต่เป็นลักษณะไพรเวทใช้ชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “EDEX-Educationa Experts” ติดต่อได้ที่ LINE Official ID:@edex รับให้คำปรึกษา ให้คำแนะแนวทางแก่ผู้ที่ต้องการไปเรียนต่อในต่างประเทศทุกระดับ ไม่เฉพาะแค่เรื่องเรียนเท่านั้นยังรวมถึงดูแลจัดหาที่พัก ย่านที่อยู่อาศัย ตลอดจนคำแนะนำและแก้ปัญหาในการเรียน กระทั่งเรื่องของการใช้ชีวิตและมารยาทในสังคมผู้ดีอังกฤษ ซึ่งกว่าจะตกผลึกเป็นธุรกิจรูปแบบนี้ได้ ทั้งสองคนได้ผ่านการทำงานกับคนหลากหลายรูปแบบ เป็นประสบการณ์ตรง โดย “ชินวัฒน์” ผู้น้อง เล่าให้ฟังว่า ทีแรกเลยไปช่วยเหลือคนรู้จัก ลูกเขาอยากไปเรียนที่อังกฤษ มหาวิทยาลัย LSE-London school of economics และยังเลือกคณะที่เข้ายากที่สุดในโลก คือคณะการเงิน ไปช่วยแนะนำการเตรียมตัวจนสามารถเข้าไปเรียนได้ตามที่ต้องการ
“…หรืออย่างปีที่ผ่านมาก่อนสถานการณ์โควิด มีคนมาปรึกษาอยากให้ลูกไปเรียนมัธยมที่โรงเรียน boarding school อันดับหนึ่งของอังกฤษ แต่ทางโรงเรียนไม่รับเพราะคะแนนไม่ถึง ผมต้องบินไปอังกฤษด้วยตัวเอง ไปคุยกับทางโรงเรียนว่าเชื่อผมนะ เด็กคนนี้กระตือรือร้นมากเขาอยากเรียนที่คุณ ตั้งใจมากขนาดนี้ทำไมคุณไม่เอา ผมบินไปคุยถึงสองรอบแบบเช้าไปเย็นกลับ ทุ่มเทมาก..ในที่สุดเด็กก็ได้เข้าเรียน ผลการเรียนออกมาได้คะแนนดีมากเพราะเด็กเขามีความสุข เขาชอบโรงเรียนและทางโรงเรียนก็พอใจ อย่างนี้เป็นต้น พ่อแม่บางคนไม่ฟังลูก ไม่รู้ว่าลูกตัวเองเรียนเป็นยังไงเอาแต่อยากให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ เข้าโรงเรียนดังๆ อย่างเดียว…”
มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมีชื่อ ชินวัฒน์บอกว่า ไม่ใช่จะเข้าได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างหากเปิดรับสมัคร 50 คน จะมีคนแห่ไปสมัครถึง 700 คน และใน 700 คนนั้น เป็นคนที่มีคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยระบุไว้ทุกคน เช่น เกรดจะต้องได้ 3.75 ต้องได้ A กี่ตัว วิชาไหนบ้าง ทุกคนจะได้ตามนี้หมด “…แต่จะเฉือนกันตรงไหน เราจะเป็น 1 ใน 50 ได้ยังไง อันนี้แหละคือ “กุญแจสำคัญ” ที่จะต้องรู้” ชินวัฒน์เน้นย้ำ และกล่าวต่อว่า ที่อังกฤษจะมองว่าคนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยคือคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความเป็นผู้ใหญ่มากพอ ดังนั้น ต้องรู้แล้วว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากเรียนอะไร ไม่เหมือนอเมริกาที่ปีแรกยังไม่ต้องเลือกวิชาเอกหรือวิชาหลัก แต่ที่อังกฤษต้องเลือกแล้ว ฉะนั้น การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
“…ยกตัวอย่าง คุณอยากเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ยื่นสมัครเข้าเรียนเลย เขากำหนดไว้เลยว่าถ้าใครไม่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ในชั้นมัธยม พอระดับมหาวิทยาลัยจะไม่สามารถเรียนคณะนี้ได้ ข้อมูลนี้ต้องรู้และต้องเตรียมตัวตั้งแต่มัธยม ถ้าไม่รู้ถือว่าพลาด หลายคนเครียดมาก กลายเป็นคนมีปัญหาก็มี ดังนั้น หากได้คนมาให้คำปรึกษาหรือแนะนำ เขาก็จะไม่เครียดและยังจะได้ในสิ่งที่อยากเรียน อยากได้ ธุรกิจของเราที่เปิดมานี้ก็เพื่อตอบโจทย์ตรงนี้ และเราไม่ได้ให้คำปรึกษาเฉพาะกับเด็กเท่านั้น แต่ยังให้คำปรึกษากับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่าจะต้องทำอย่างไร เริ่มตั้งแต่มานั่งคุยกันก่อนเพื่อหาความชอบร่วมกัน ดูว่าเด็กอยากเรียนสิ่งนี้จริงไหม หรือถูกผู้ปกครองบังคับจะต้องช่วยกันปั้นเขาขึ้นมาอย่างไร สร้างตัวตนของเขายังไง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องไม่โกหกในเรื่องข้อมูล ไม่บีบให้เด็กเป็นในสิ่งที่เขาไม่ใช่ และจะไม่สร้างโปรไฟล์ของเด็กแบบรวกๆ ต้องเป็นตัวตนเขาจริงๆ…”เป็นหลักของสองพี่น้องในการทำธุรกิจ
นอกจากในเรื่องของการเลือกวิชาและคณะที่อยากเรียนแล้ว สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เป็นการเลือก “ย่าน” ที่อยู่อาศัย จะต้องมีความปลอดภัย มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม ยังต้องเป็นย่านที่สามารถเชื่อมสัมพันธ์และสร้างเพื่อนที่ดีได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับอนาคต “..ต้องยอมรับว่าการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศของพ่อแม่บางราย ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนอย่างเดียว นอกจากวิชาความรู้แล้วยังเป็นเรื่องของคอนเนคชั่น โดยเฉพาะครอบครัวที่ทำธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ต้องวางแผนอย่างรอบคอบและสมบูรณ์แบบ” ชินวัฒน์กล่าว
ขณะที่ “ศุภนิดา” พี่สาวเสริมว่า งานบริการให้คำปรึกษาของทั้งคู่มุ่งไปที่เป้าหมายของลูกค้าเป็นหลัก คือลูกค้าต้องได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการอันดับแรก ถัดมาจึงเป็นเซฟ ช้อยส์ หมายความว่าสามารถเข้าเรียนได้แน่นอน และยังคงเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีติดอันดับในประเทศอังฤษ โดยที่ผ่านมาเธอว่าทุกคนที่มาปรึกษาจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เลือกอันดับแรกทั้งหมดเลย สองพี่น้องการันตีตบท้ายว่าคนที่มาขอคำปรึกษาจะไม่ถูกมองว่าเป้นลูกค้า แต่จะเป็นเสมือนหนึ่งญาติพี่น้อง “เพราะผมบอกแล้วว่าธุรกิจที่เราสร้างขึ้นมานี้มันมาจากความชอบที่ได้ช่วยเหลือคน ได้เห็นคนไปสู่ความสำเร็จ ฉะนั้นทุกขั้นตอนของการทำงานผมจึงลงไปทำด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ใช้ผู้ช่วย ผมจริงจัง ขีดเส้นใต้ไว้เลยว่า ผมจริงใจจริงๆ…”
สังคมโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อน การแข่งขันเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางในอนาคต ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนต่างมีโอกาส แต่โอกาสที่ว่านั้นจะไปสู่ความสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการลงทุนมองอนาคตอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และด้วยวิธีการที่เป็นระบบ ซึ่งไม่สามารถคิดเองทำเองได้โดยไม่มีความรู้ คนแนะนำหรือคนให้คำปรึกษาจึงสำคัญ ไม่เช่นนั้นจะเข้าทำนองสุภาษิตไทยที่ว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”