ขยายผลผู้ร่วมขบวนการตำแหน่งสูงกว่า จ่อฟันความผิดทางละเมิด “อดีตปลัดศธ.”หากตรวจพบปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ในฐานะผู้อนุมัติเงินต้องชดใช้ 20%
ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.)ได้ตรวจพบการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกว่า 88 ล้านบาท ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ของ ศธ.ทำการตรวจสอบกองทุนภายในหน่วยงานด้วย ตามที่ได้เสนอข่าวกันอย่างต่อเนื่องไปแล้วนั้น
ล่าสุดสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ( ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) และเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจดอนเมือง ได้เข้าตรวจค้นบ้าน นางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ระดับ 8 กระทรวงศึกษาธิการ และนายสุวิชา สินที บุตรชาย เพื่อเข้าตรวจค้นเก็บหลักฐาน เนื่องจากนางรจนา มีเหตุต้องสงสัยว่าเป็นเพียงข้าราชการระดับ 8 แต่สามารถใช้ช่องทางทุจริตอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี สร้างความเสียหายให้กับระบบราชการอย่างมาก และจากการเข้าตรวจค้นบ้าน ของเจ้าหน้าที่ นั้นกลับกลายเป็นประเด็นที่น่าสงสัยถึงเส้นทางการเงิน เนื่องจากสภาพบ้านพักค่อนข้างทรุดโทรม จึงไม่รู้ว่าเส้นทางการเงินที่ทุจริตจากเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ไปเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบันมีเงินไหลออกไปจุดใดบ้าง ที่สำคัญในคดีมีข้อสงสัยว่าการอนุมัติเงินกองทุนฯ ซึ่งทำในรูปคณะกรรมการฯ มีผู้ร่วมพิจารณาเป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงมีการทุจริตเพียงคนเดียว โดยไม่พบร่องรอยของผู้ร่วมกระบวนการด้วย ซึ่งผู้ที่มีชื่อในบัญชีรับเงินจากนางรจนา ก็ต้องแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด
นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนการโกงเงินกองทุนฯ โดยเบื้องต้นได้แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอาญา 5 ข้อ โดยมีมาตรา 147 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้น เป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย มาตรา 151 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำกิจการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น มาตรา 161 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความ ลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสารกระทำการปลอมเอกสารใด โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น มาตรา 162 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความ ลงในเอกสาร กระทำการในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังต้องมีการขยายผลหาผู้ร่วมกระบวนการที่มีตำแหน่งที่สูงกว่า เพราะตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมลักษณะนี้ ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ เนื่องจากเงินที่ทุจริตไปมีจำนวนสูงมาก อีกทั้งต้องมีหลายฝ่ายพิจารณาอนุมัติ
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า วันนี้ 26 มี.ค.ในการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(อ.ก.พ.สป.) จะมีการพิจารณาลงโทษนางรจนา โดยโทษทางวินัยครั้งนี้ เป็นโทษระดับร้ายแรง ซึ่งเจ้าตัวได้รับสารภาพมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงเป็นที่แน่นอนว่าจะได้รับโทษขั้นสูงสุด คือ ไล่ออก สถานเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อดำเนินการทางวินัยนางรจนา แล้วกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องพิจารณาเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเบิกจ่ายเงินด้วย เพื่อติดตามเงินกลับมามอบให้แก่นักเรียนในโครงการที่ยังไม่ได้รับเงิน ทั้งนี้ความผิดทางละเมิดนั้น ตามหลักเกณฑ์แล้ว ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบ 100% แต่หากยึดทรัพย์แล้วไม่สามารถนำมาชดใช้ได้ครบ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบตามสัดส่วนที่เหลือ คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินรับผิดชอบ 60% ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ชั้นกลาง และผู้อนุมัติผ่านงานรับผิดชอบ 40% แต่ผู้อนุมัติเงินไม่ต้องรับผิดชอบ
“แต่ถ้าเป็นกรณีไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน ผู้กระทำผิดไม่มีเงินมาคืน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องแบ่งสัดส่วนชดใช้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินรับผิดชอบ 60% ผู้บังคับบัญชา20% และผู้อนุมัติผ่านงาน 20% อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้เป็นกรณีการทำหลักฐานการจ่ายเงินเท็จขึ้นมา เพราะฉะนั้นผู้อนุมัติเงิน ซึ่งหมายถึงปลัดศธ.จะต้องรับผิดชอบด้วย หากพิสูจน์ได้ว่า ปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมดูแล ปล่อยให้มีการทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้อนุมัติเงิน คือ ปลัด ศธ.ต้องรับผิดด้วยอัตราส่วน 20% ดังนั้นประเด็นนี้ต้องไปพิสูจน์กันว่า ที่ผ่านมาปลัด ศธ.ปล่อยปละละเลยโดยไม่มีการตรวจสอบหรือไม่”แหล่งข่าว กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ