หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 15 ก.พ.60 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) จัดแถลงข่าวการจัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ “๗ ทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมี : พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา และคณะผู้บริหารและข้าราชการ สกศ.ตลอดจนผู้แทนเครือข่ายการศึกษาร่วมงาน
—————–
โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “๗ ทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมี” ตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นขวัญและกำลังใจของคนไทย ซึ่งสิ่งที่พระองค์ท่านทรงสอนมาตลอด 70 กว่าปีนี้ ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ซาบซึ้ง แต่รวมถึงคนทั่วโลก ทุกคนต่างรักและคิดถึงพระองค์ท่านจนตัดใจไม่ได้ แต่ต้องเตือนใจทุกคนให้มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ ต้องคิดให้เหมือนว่าอย่าทำให้พระองค์ท่านทรงเสียพระหฤทัย หากพวกเราไม่ขยันขันแข็ง นึกถึงพระองค์ท่านก็คงสูญเสียพระทัย พวกเราต้องทำทุกอย่างให้พระองค์ท่านมีเกษมสำราญอยู่บนสวรรคาลัย อีกทั้งการเกิดมาเป็นคนไทยไม่ใช่เป็นเรื่องเอกลักษณ์ของชาติ แต่เป็นธรรมชาติของคนไทย และเกิดมาพร้อมกับความคนไทย คือความจงรักภักดี และความรักในหลวง ทุกคนต้องไม่ร้องไห้ ไม่อ่อนแอ เพราะทุกคนยังมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอยู่ในดวงใจ
“วันนี้ผมได้มีโอกาสมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการใหม่ โดยได้ขอให้ทุกคนยึดหลักทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการครองตน ครองงาน ครองสังคม และดูแลรักษาประเทศชาติ ต้องไม่รู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว ต้องไม่รู้สึกเสียใจ หรือหมดกำลังใจที่จะประกอบคุณงามความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และในทางกลับกันต้องมีกำลังใจอย่างมาก และรวมกำลังเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงขอให้เป็นไอดอล แบบอย่างให้แก่ลูกหลานเยาวชนไทย ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ช่วยกันคบคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นแบบอย่างยั่งยืน โดยยึดการทรงงานของพระองค์ท่าน ตั้งแต่การเป็นนักการศึกษา ความมุ่นมั่นในการศึกษา ไม่ใช่เอารัดเอาเปรียบ และให้เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ อีกทั้งต้องเป็นแบบอย่างของความเรียบร้อย สุภาพ ยึดถือความมีระเบียบวินัย
…และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ขอช่วยเสริมสร้างและให้เกิดขึ้นเป็นจริงตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราชดำริอยากให้คนไทยทุกคนเดินตามรอยพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมราชชนก ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ ที่ยึดถือประชาชนเป็นหัวใจของการทำงาน รับใช้ประชาชน ช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่เรามีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องตีกรอบให้ได้ คิดนอกกรอบได้บางเรื่องแต่ไม่ใช่สุดโต่ง ขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะข้าราชการต้องสุขุมรอบคอบ ยึดมั่นในระเบียบวินัย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สกศ.สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของชาวไทยโดยเฉพาะด้านการศึกษา และเพื่อเป็นการสดุดีพระผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน จึงได้จัดพิมพ์หนังสือ “๗ ทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมี : พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” จำนวน10,000 เล่ม เผยแพร่พระอัจฉริยภาพที่ทรงสั่งสมจากการศึกษา เรียนรู้ ผสมผสานกับประสบการณ์ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนในทุกภูมิภาค ก่อกำเนิดโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่มาจากหลักวิธีทรงงานในพระองค์ 3 หลักสำคัญ คือ หลักคิด หลักวิชา และหลักปฎิบัติ เนื้อหาภายในเล่มได้รวบรวมพระบรมราโชวาทด้านการศึกษา ที่ทรงพระราชทานให้คณะครู ผู้บริหาร บัณฑิต นักเรียน นักศึกษาในวโรกาสต่างๆ ซึ่งนับเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งแห่งศตวรรษนี้
ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ภายหลัง สกศ.ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ภาพพระราชกรณียกิจ พระปฐมบรมราชโองการ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายหนังสือเล่มนี้ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุลยเดช และได้รับหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการตอบรับทราบในความจงรักภักดีของ สกศ. และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณ ยังความยินดีและความซาบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่ชาว สกศ.และคณะผู้จัดทำหนังสือแห่งประวัติศาสตร์นี้
ทั้งนี้ ส่วนของเนื้อหาหนังสือ “๗ ทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมี : พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” จัดพิมพ์ภาพ 4สี ด้วยระบบทันสมัย ความหนา188หน้า หน้าปกงามล้ำค่าด้วยอักษรปั้มสีทอง “๗ ทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมี : พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นฉัตร 9ชั้น อันมีความหมายสูงล้ำ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพื้นปกสีน้ำเงินบ่งบอกถึงการเทิดทูนและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของชาวไทยทุกคน เขียนคำนำโดย ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา และได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นผู้ประพันธ์บทอาเศียรวาท เนื้อหาหลักของพระบรมราโชวาท แบ่งออกเป็น7 ช่วง ตลอดรัชสมัย จำนวน 99 องค์ นับแต่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตั้งแต่ปี 2489 จนถึงปี 2559 อันทรงคุณค่ายิ่งตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ ทรงอุทิศกำลังพระวรกายเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ความเจริญพัฒนาของประเทศ โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เพื่อปวงชนชาวไทยตลอดมา
สำหรับผู้สนใจหนังสือ “๗ ทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมี : พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2668-7123 ต่อ 2513, 2530 ตามวันและเวลาราชการ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ