จากข้อมูลทางสถิติการจดทะเบียนคนพิการทั่วประเทศ ปี 2560 พบผู้พิการกว่า 1,800,000 คน (ร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งประเทศ) และจากความพิการทั้ง 7 ด้าน พบเป็นผู้ที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวมากที่สุดกว่า 870,000 คน (ร้อยละ 48.76)
และจากข้อมูลรายงานการจ้างงานและการประกอบอาชีพของผู้พิการ พบมีผู้พิการในวัยทำงาน กว่า 800,000 คน เป็นผู้พิการที่ประกอบอาชีพร้อยละ 33.18 ผู้พิการที่ไม่ได้ประกอบอาชีพร้อยละ 40.3 และผู้พิการที่ประกอบอาชีพไม่ได้ร้อยละ 26.51
นอกจากนี้ จากการสำรวจความต้องการมีงานทำ พบผู้พิการจำนวนมากในหลายภูมิภาคต้องการประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ปัญหาที่พบคือ การใช้งานจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรม ที่ส่วนมากไม่รองรับกับความพิการทางร่างกาย
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ผศ.ศรัทธา แข่งเพ็ญแข ผศ.ลักขณา จาตกานนท์ และ ผศ.จุฑาทิพ รัตนะนราพันธ์ จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คิดออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ช่วยเย็บ ที่ติดตั้งกับจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมชนิดเข็มเดี่ยว ฝีเข็มกุญแจ สำหรับผู้พิการขา
เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ให้สามารถประกอบอาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า หรือทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำไปดัดแปลงจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรม เพื่อรับผู้พิการเข้าทำงานได้ ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ผศ.ศรัทธาหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การทำงานของอุปกรณ์ช่วยเย็บ แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ชุดขับเคลื่อนคันส่งระบบคลัชมอเตอร์ และชุดระบบการยกเท้าทับผ้า การใช้งานเพียงผู้พิการใช้หน้าอกออกแรงดันชุดขับเคลื่อน เพื่อให้เครื่องจักรทำงานเย็บ และใช้มือหรือข้อศอกดัน เพื่อบังคับระบบการยกเท้าทับผ้า โดยมือทั้งสองข้างสามารถหยิบจับชิ้นงานได้อย่างปกติ
จากการทดสอบการใช้งานกับผู้พิการขาที่ต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ภายในศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ภาค 1 จ.ปทุมธานี โดยให้ผู้พิการเย็บผ้ากันเปื้อนในเวลา 3 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับคนปกติ
พบว่า ผู้พิการขาสามารถเย็บผ้ากันเปื้อนได้จริง โดยประสิทธิภาพในการผลิตจากสัปดาห์ที่ 2 และ 3 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยตามระยะเวลาในการทำงาน และจากการทดสอบ T-test ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพคนพิการและคนปกติ พบว่าประสิทธิภาพการผลิตของคนพิการและคนปกติไม่แตกต่างกัน
“ทีมงานวิจัยหวังว่า ผลงานวิจัยนี้ จะช่วยส่งเสริมให้คนพิการขา มีโอกาสทำงานด้านตัดเย็บเสื้อผ้า ทั้งอาชีพอิสระและทำงานโรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ซึ่งทำให้ผู้พิการได้รับสิทธิเท่าเทียมในการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ
ส่วนสถานประกอบการผลิตเสื้อผ้าอุตสาหกรรมสามารถนำอุปกรณ์ไปดัดแปลง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้พิการให้ใช้งานได้ และสามารถรับผู้พิการเข้าทำงานตามความเหมาะสม ทำให้ผู้พิการทำงานหาเลี้ยงชีพ มีงานทำมีรายได้ โดยไม่คิดว่าตนเองไร้ความสามารถ เพียงสังคมยังเปิดโอกาสให้กับพวกเขาเหล่านั้น”
ด้าน นางสาวฉวี คงใย ครูฝึกอาชีพสงเคราะห์ระดับ 3 ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ พระประแดง กล่าวว่า ศูนย์จะสอนตั้งแต่เย็บผ้าเบื้องต้น จนถึงสร้างแบบ และตัดเสื้อผ้าอย่างง่าย รวมถึงการดูแลรักษาจักรเย็บผ้า
ทั้งนี้ จักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมสำหรับคนพิการขาที่มหาวิทยาลัยฯ มอบให้ศูนย์ฯ เพื่อให้นักเรียนผู้พิการได้ฝึกฝนอาชีพนั้น ใช้งานง่าย เพียงใช้หน้าอกดันชุดบังคับเท่านั้น นับว่าสามารถทำให้ผู้พิการขาได้ฝึกฝนเพื่อนำไปประกอบอาชีพอิสระ หรือสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ที่รับผู้พิการเข้าทำงาน ทำให้ผู้พิการมีอาชีพหรือมีทางเลือกประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น
ด้านน.ส.เสนาะ สัญญนาค อายุ 48 ปี ผู้พิการขาอ่อนแรง นักเรียนศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ พระประแดง กล่าวว่า ปกติไม่ได้ประกอบอาชีพ แต่เมื่อเข้ามาฝึกอบรมหลักสูตรการเย็บจักร ที่ศูนย์ฝึกอาชีพ ได้ทดลองใช้จักรเย็บผ้าสำหรับผู้พิการ รู้สึกใช้งานง่ายและสะดวก จะนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ และอยากให้มีหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เข้ามาสนับสนุนทุนอุปกรณ์ เพื่อให้ผู้พิการนำไปประกอบอาชีพอิสระต่อได้
ล่าสุดผลงานวิจัยดังกล่าวได้นำไปจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo2018) เมื่อไม่นานมานี้ ภายใต้หัวข้องานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคม สำหรับผู้สนใจหรือหน่วยงานที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ศรัทธา 085-153-8351
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ