อีกหนึ่งนวัตกรรมจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเมืองไทยที่นับวันจะก้าวไกลไมหยุดยั้ง
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานแถลงข่าวงานวิจัยนวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก ซึ่งพัฒนาโดย รศ.ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ หน.สาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก สำนักวิชาวิศกรรมศาสตร์ พร้อม อาจารย์พ.ท.นพ.บุระ สินธุภากร หน.สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส.
รศ.ดร.ศิริรัตน์ เปิดเผยว่า เป็นงานวิจัยภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยพัฒนาวัสดุทดแทนกระดูกที่คุณสมบัติคล้ายซีเมนต์ที่ขึ้นรูปได้โดยปั้นหรือฉีดผ่านเข็มฉีดยาขนาดเล็ก ใช้เวลาศึกษาวิจัยมากว่า 10 ปี (พ.ศ.2552 -2561)
“ซีเมนต์กระดูก” ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่นี้มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกระดูกมนุษย์ (Calcium phosphate) สามารถสลายตัวได้ในร่างกาย เซ็ตตัวได้เองในสภาวะปกติของร่างกาย ไม่เกิดความร้อนขณะเซ็ตตัว สามารถฉีดผ่านเข็มฉีดยาเข้าไปรักษาในบริเวณที่เป็นโพรงหรือบริเวณที่แคบ
ช่วยส่งเสริมการเกาะของเซลล์กระดูก โดยการสลายตัวที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างช้าๆ และให้รูพรุนที่เป็นโครงสร้าง ให้เซลล์กระดูก เลือดและของเหลวในร่างกายเข้าไปภายใน ช่วยให้เนื้อเยื่อกระดูกใหม่เจริญเติบโตได้ดี ปลอดภัยต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต
นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยส่วนเสริมแรงจากเส้นใยพอลิเมอร์ธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ ทำให้แข็งแรงเพียงพอในระหว่างที่เนื้อซีเมนต์บางส่วนสลายตัวไป
จุดเด่นอีกด้านคือ เซ็ตตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง จึงปั้นหรือขึ้นรูปตามต้องการได้ และสามารถพัฒนาต่อยอดนำมาขึ้นรูปที่ซับซ้อนแบบสามมิติโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ จึงเหมาะสำหรับการทำกระดูกที่มีความซับซ้อน ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศทั้งหมด ต้นทุนต่ำ ลดนำเข้า และมีโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มาก
อาจารย์พ.ท.นพ.บุระเปิดเผยว่า โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ซีเมนต์กระดูกเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกในตำแหน่งใกล้ข้อ เพื่อช่วยเร่งสร้างกระดูกกรณีหักหรือกระดูกติดช้า ช่วยถมตำแหน่งที่ขาดหายไปของกระดูก
ตัวอย่างเช่น ที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์กระดูกในกระดูกสันหลัง หรือวิธี Vertebroplasty ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักหรือทรุด กระดูกสันหลังผิดรูป โดยแพทย์จะกรีดผิวหนังบริเวณสันหลังเป็นรอยเล็กๆ เพื่อใส่เข็มที่จะฉีดซีเมนต์บริเวณกระดูกสันหลังภายใต้การควบคุมตำแหน่งโดยเครื่องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ เมื่อฉีดซีเมนต์แล้ว แพทย์จะค่อยๆ ดึงเข็มออกและปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อกระดูกสันหลัง 1 ชิ้น
ข้อดีของการรักษาด้วยวิธี Vertebroplasty คือลดเวลาพักฟื้น โดยจะนอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืนและลดความเสี่ยงขณะรักษาโรคกระดูกพรุน โดยสารทดแทนกระดูกที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งต้องนำเข้า อยู่ที่ 0.5 cc ราคาโดยประมาณ 12,000 บาท
หากใช้วัตถุดิบในประเทศจะลดต้นทุน และขยายโอกาสรักษาผู้ป่วยได้ทั่วถึง และหากงานวิจัยนี้ได้บรรจุเข้าบัญชีนวัตกรรมไทย เป็นไปได้สูงที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ ซึ่งทีมวิจัยจะได้ศึกษาและพัฒนาต่อในอนาคต
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ