หลังประสบความสำเร็จ ”โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล” กับบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลมาแล้ว ตั้งแต่ปี 52 ถึงปัจจุบัน ตลอด 9 ปี ที่ดำเนินโครงการ มีขยะรีไซเคิลที่สมาชิกนำมาฝากที่ธนาคารขยะ ถึง1,920,891.98กิโลกรัม คิดเป็นยอดเงินรับซื้อขยะรีไซเคิลสูงถึง10,173,818.03บาท
ม.มหิดล จึงต้องการขยายผลความสำเร็จของโครงการนี้ไปสู่โรงเรียนในชุมชนโดยรอบม.มหิดล ศาลายา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะที่นับเป็นปัญหาระดับชาติ
โปรแกรมธนาคารขยะรีไซเคิลของม.มหิดล จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยกองเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานอธิการบดี เพื่อใช้บริหารจัดการระบบธนาคารขยะรีไซเคิลภายในมหาวิทยาลัย ตัวโปรแกรมสามารถทำธุรกรรมได้คล้ายระบบธนาคารทั่วไป เช่น สมัครสมาชิก รับฝาก ถอนเงิน และรายงานสรุปการทำธุรกรรมของทุกขั้นตอนได้ ทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว เชื่อถือได้
ก่อนหน้านี้ มีโรงเรียนเครือข่ายที่นำโปรแกรมของม.มหิดลไปใช้แล้ว 4 แห่งคือ รร.พระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล รร.วัดมะเกลือ (กาญจนลักษณ์วิทยา) รร.วัดทรงคนอง และรร.วัดสุวรรณาราม สำหรับปีนี้ได้เพิ่มเติมโรงเรียนเครือข่ายระดับมัธยมต้นครั้งแรก คือ รร.มัธยมปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา กทม. และรร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม)
นายศุภรัตน์ แดนโคกสูง หรือ ครูเฟิร์ส ที่ปรึกษาสภานักเรียน รร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย เล่าว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนพยายามทำโครงการขยะอยู่ แต่ยังไม่เป็นรูปร่าง จน2 เดือนที่แล้ว ม.มหิดลได้เข้ามาช่วยโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ช่วยติดตั้งโปรแกรมธนาคารขยะ วางระบบ อุปกรณ์ต่างๆ ฝึกอบรมวิธีบริหารโครงการ รวมถึงติดต่อร้านรับซื้อของเก่าให้เข้ามารับขยะถึงโรงเรียน จึงทำให้โครงการขยะของโรงเรียนเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน
ดญ.จณิสตา นามพร (พั้นซ์) และดช.บุญยศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (โฟล์ค) นักเรียนชั้นม.1 ที่ร่วมเป็นจิตอาสาโครงการฯ ทำหน้าที่แผนกบันทึกข้อมูลรับซื้อขยะเล่าว่า ขยะรีไซเคิลที่มีคนนำมาขายมากที่สุดคือ กระดาษ A4 ขวดพลาสติก ลังกระดาษ ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม ท่อพีวีซี รวมถึงน้ำมันทอดใช้แล้ว ขณะขยะบางอย่างถ้าคัดแยกประเภทแล้วก็ยิ่งขายได้ราคาดี เช่น กระดาษสมุด เมื่อแยกปกและกระดาษขาวออกจากกัน ราคาจะสูงกว่าแบบไม่แยก
ครูเฟิร์ส เล่าว่า “เด็กๆ ตระหนักมากขึ้นจากที่เห็นเพื่อนมีรายได้ ตอนแรกอาจจะมองว่าขายขยะแต่ละครั้งได้เงินไม่มาก แต่เมื่อรวมกลุ่มกันมากขึ้นหรือสะสมมากขึ้น มูลค่าก็มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจที่ดี ให้เห็นคุณค่าของการแยกขยะ และที่ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายคือ กลุ่มครูที่ในกลุ่มสาระหมวดวิชาต่างๆ ซึ่งจะมีเอกสารกระดาษจำนวนมาก นำมาขายที่ธนาคารขยะแต่ละครั้งได้เงินเป็นหลักร้อยหลักพันเลยทีเดียว”
ดร.นพดล เด่นดวง ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ผอ.รร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัยกล่าวว่า ไม่ใช่แค่นักเรียนที่เปลี่ยนแปลง แต่ยังรวมถึงบุคลากรในโรงเรียน ทุกคนจะตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมจัดการเป็นระบบ มองว่าเมื่อโรงเรียนสอนให้เด็กได้เรียนรู้และมีจิตสำนึกแล้ว เขาจะมีส่วนบอกต่อและเป็นเครือข่ายระดับครอบครัวและสังคมต่อไป เมื่อร่วมด้วยช่วยกันเป็นเครือข่ายสังคมที่มีคุณภาพมากขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาขยะให้ลดน้อยลงได้
รศ.ดร. กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ม.มหิดล กล่าวว่า โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล มีเป้าหมายสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาขยะในชุมชนและโรงเรียน มีส่วนร่วมลดขยะ ทั้งจัดเก็บ แยกขยะ รีไซเคิล รวมถึงเกิดรายได้ จากการติดตามและประเมินผล ทุกโรงเรียนเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ