ประกาศผลไปเรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” ปีที่ 12
โครงงานที่โดดเด่นสามารถฝ่าด่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากคณะกรรมการจนได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงงาน “ธนาคารน้ำใต้ดิน ก้าวตามรอยพ่อ” จาก ทีมเด็กไทบ้าน ธนาคารน้ำใต้ดิน โรงเรียนอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ
ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลรวม 500,000 บาท ทั้งยังชนะใจมหาชนด้วยการคว้ารางวัล Popular Vote มาครองด้วย
นางศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลอด 12 ปีที่จัดโครงการมา โครงงานที่ส่งเข้าประกวดมีมาตรฐานดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถพัฒนาต่อยอด ทำให้เกิดโครงงานดีๆ กว่า 700 โครงงาน เยาวชนกว่า 40,000 คน ที่ได้ศึกษาและนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ รวมทั้งนำไปพัฒนาแก้ปัญหาให้ชุมชน ซึ่งหลายโครงงานที่ทำสำเร็จแล้ว ยังเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นนำไปศึกษา
น.ส.ทอฝัน ก้อนคำ น.ส.พรนภา ธรรมจักร์ น.ส.กฤติมา อรภาพ น.ส.พรรณฑิมาภรณ์ ไชโย และน.ส.ณัฐณิชา บุญหลง ทีมเด็กไทบ้าน ธนาคารน้ำใต้ดิน อธิบายถึงโครงงานว่า แรงบันดาลใจเกิดจากปัญหาในชุมชนที่น้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งตั้งแต่ปี 59 น้ำตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในจ.อำนาจเจริญมีน้อยมาก นับเป็นวิกฤตภัยแล้งในรอบ 15 ปี
ขณะที่ชุมชนขุดเจาะน้ำบาดาลสูบมาใช้มากขึ้น ขาดการเติมน้ำลงสู่ใต้ดิน ทำให้น้ำทำการเกษตรขาดแคลน เมื่อฝนตกน้ำก็ท่วมขัง จึงไปศึกษาข้อมูลจากพระนิเทศศาสนคุณ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ที่จ.บึงกาฬ เพื่อเรียนรู้หลักการกักเก็บน้ำใต้ดินและนำน้ำใต้ดินมาใช้
“เราได้ประชุมร่วมกับพระที่ปรึกษา ครูที่ปรึกษา และผู้นำชุมชน เพื่อวางแผนทำโครงงานธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ซึ่งต้องบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง และน้ำไม่ท่วมในหน้าฝน โดยเติมน้ำลงใต้ดินในระดับบนสุดของน้ำใต้ดินที่เปลือกโลกชั้นผิวดิน ซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศแทรกในชั้นหิน ทำให้บริเวณนั้นมีแหล่งน้ำใต้ดินมาก มีความชื้นในบริเวณนั้นมากขึ้น ดินดีขึ้น การระบายและไหลเวียนของอากาศดีขึ้น สภาวะแวดล้อมดีขึ้น
กรณีที่มีน้ำเน่าเสียท่วมขัง น้ำเสียก็จะถูกดูดซึมลงผิวดิน ผ่านการกรองของชั้นดิน ชั้นหิน จนไปสู่ระดับที่ลึกของชั้นดิน ชั้นหิน จุลินทรีย์ต่างๆ ก็จะค่อยๆ หมดไป นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งแล้ว ยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำให้การทำการเกษตรดีขึ้น เกษตรกรมีรายได้ และมีการจ้างแรงงานคืนถิ่น”
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของโครงงานยังสามารถสร้างเครือข่ายระหว่าง โรงเรียน ชุมชน วัด ก่อให้เกิดความสามัคคี มีน้ำใจ มีจิตสาธารณะ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรู้จักใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9
“เรายังได้ต่อยอดนำความรู้ไปจัดอบรมให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็เห็นประโยชน์จนเกิดการรวมกลุ่มเป็น กลุ่มธนาคารน้ำใต้ดิน เกิดการขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย และยังเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานที่ฐานเรียนรู้บ้านหนองเม็ก จ.อำนาจเจริญ”
นอกจากรางวัลชนะเลิศแล้ว ยังมีอีก 14 โครงงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 2,300,000 บาท โดยรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โครงงานวิถีพอเพียงผ่านไผ่มหัศจรรย์ สู่ชุมชนน้ำมวบใต้เงาเทือกเขาหลวงพระบาง จากทีม Wonderful Bamboo โรงเรียนสาธุกิจประชาสรรค์ รัชมังคลาภิเษก
รองชนะเลิศอันดับ 2 โครงงานบำบัดน้ำเสีย สู่น้ำใส เพิ่มรากฐานในชุมชนได้อย่างยั่งยืนด้วยธูปฤาษี จากทีม V Organic โรงเรียนวังไกลกังวลในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลชมเชยอีก 12 โครงงาน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ