เปิดเวทีแสดงศักยภาพสถาบันผลิตบัณฑิตมืออาชีพ ในคอนเซ็ปต์ “บ้านนางเลิ้ง” ประยุกต์ผ้าทอพื้นบ้านให้ร่วมสมัย ใส่ได้จริง
ดร.จรัสพิมพ์ วังเย็น อาจารย์ประจำสาขาสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า ได้จัดโครงการแสดงผลงานนักศึกษาด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ภายใต้ชื่อ The Debut Project ครั้งที่ 9 ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่แสดงถึงศักยภาพการเรียนการสอนตลอดระยะเวลา 4 ปี และเป็นเวทีให้นักศึกษานำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงและเผยแพร่ผลงาน สู่สังคม อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการผลิตบัณฑิตมืออาชีพ ซึ่งในปีนี้มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ 225 ชุด และมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของนักศึกษา 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีเสื้อผ้า สาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ และสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ
ดร.จรัสพิมพ์กล่าวว่า ในปีนี้ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “HOUSE OF NANGLOENG “บ้านนางเลิ้ง” โดยผลงานของนักศึกษาครั้งนี้ได้ผ่านกระบวนการศึกษา เรียนรู้ ทดลอง ผสมผสานกับแนวคิดทางศิลปะ ที่เชื่อมโยงแนวคิดการออกแบบโดยนำรูปแบบวิถีชีวิต งานหัตถกรรม งานประติมากรรม แบบอย่างศิลปะ และความเชื่อ ด้วยการนำเสนอโครงสร้างชุดและรายละเอียดการตกแต่งที่แสดงอัตลักษณ์ของเรื่องราว สะท้อนแนวคิดผ่านการถ่ายทอดเป็นรูปแบบเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ได้จริง ผ่านเทคนิคการทอ การพิมพ์ การปัก การเลเซอร์คัท และการสร้างสรรค์ศิลปะสิ่งทอ นำเสนอลวดลายเฉพาะตัวด้วยการใช้คู่สีที่หลากหลายในกลุ่ม เอิร์ธโทน และการใช้สีในกลุ่มสีสดใส ทำการจับคู่สีที่สร้างให้เกิดความแตกต่างเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและความสมดุล จนเป็นผลงานการออกแบบที่แสดงออกถึงตัวตน ที่พร้อมก้าวสู่การเป็นนักออกแบบแฟชั่นในอนาคต
นายสิทธิ จรัสแสง หรือ โด้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ เจ้าของผลงาน KID HORD (คิดฮอด) ซึ่งเป็นภาษาอีสานที่แปลว่าคิดถึง เผยว่า “ผมเป็นคนจังหวัดกาฬสินธุ์ เติบโตมากับกี่ทอผ้า แม่ทอผ้าส่งผมเรียนมาตั้งแต่ผมยังเด็กๆ แม่จะให้คอยช่วยงานตลอด เมื่อเริ่มเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ทำให้คิดถึงบ้านและผืนผ้าในท้องถิ่น
จึงทำให้เกิดแนวคิดในการนำผ้าทอมาพัฒนารูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น โดยกระบวนการทอผ้านั้นทุกผืนที่นำมาจัดแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ทอด้วยมือเองทุกชิ้นผสมผสานกับความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ ซึ่งอนาคตอยากนำผ้าพื้นบ้านมาพัฒนาและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและต่างประเทศ”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ