“พณชิต กิตติปัญญางาม” นายก ไทยเทค สตาร์ทอัพ เผย เคล็ดลับ Pitching สู่ความสำเร็จ พร้อมติวเข้ม นักศึกษา DPU ในกิจกรรมDPUX STARTUP HERO BOOTCAMP เจาะลึกความเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ก่อนขึ้นเวทีแข่งขันระดับปท.
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association (สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่) และผู้อำนวยการสถาบัน DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า การประกวด STARTUP Thailand League ในระดับมหาวิทยาลัยปี 2019 นี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องของภาครัฐที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เปิดเวทีให้โอกาสทีมนักศึกษาได้ Pitching แนวคิดของการสร้างธุรกิจ Startup กัน ซึ่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของประเทศที่ส่งทีมนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตนได้ช่วยทางมหาวิทยาลัยทำการโค้ชและเมนเตอร์นักศึกษาในกิจกรรม DPUX STARTUP HERO BOOTCAMP เพื่อคัดเลือกทีมชนะเลิศ ซึ่งตอนนี้ได้ทีมผู้ชนะทั้งหมด 7 ทีม เพื่อไปรอเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับประเทศแล้ว
ทั้งนี้ กิจกรรม BOOTCAMP เป็นกิจกรรมที่ดีต่อเด็กนักศึกษาอย่างมาก เนื่องจากได้ช่วยฝึกฝนพัฒนาความรู้และจิตใจ ที่นักศึกษาจะได้ทั้งการเพิ่มทักษะความคิด วิธีการจัดการความรู้ ความคิดและจิตใจ ของผู้ที่เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ นอกจากนี้นักศึกษายังได้ความรู้เพิ่มในการสืบค้นข้อมูล เรียนรู้การย่อยข้อมูลที่นำมาซึ่งไอเดีย ที่สำคัญได้เพิ่มทักษะการเรียนรู้ความล้มเหลวแล้วพิสูจน์ถึงวิธีการกลับขึ้นมาใหม่ด้วย
ดร. พณชิต กล่าวอีกว่า การ Pitching นั้นมีความสำคัญต่อธุรกิจมากและมีความสำคัญต่อทุกเวที เนื่องจากว่า การ Pitching เป็นสุดยอดของวิธีการนำเสนอเรื่องราวของผู้ที่มีวิธีคิดในแบบผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่สื่อสารออกไปแล้วเรื่องราวนั้นตรงประเด็น เข้าเป้า ซึ่งการเข้าเป้าจะเหมือนกับการ Pitch เบสบอล ที่จะปาลูกบอลอย่างไรให้เข้าเป้า ดังนั้น การสื่อสารที่สื่อออกไปก็เหมือนกัน จะต้องรู้ว่า เป้าหมายคืออะไร แล้วต้องการสื่อสารเรื่องนั้นๆให้ใครฟัง เมื่อสื่อสารออกไปแล้วเรื่องนั้นๆตรงตามเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ ในจุดนี้สำคัญมากเพราะขึ้นอยู่กับว่า นักศึกษาหรือผู้ Pitching มีการเตรียมข้อมูลเนื้อหาและวิธีการที่จะสื่อสารออกไปได้ดีมากน้อยแค่ไหนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
แต่อย่างไรก็ตามการจะ Pitching ให้เข้าเป้าหรือประสบความสำเร็จให้ได้นั้นหลักๆ นักศึกษาต้องมีเลยคือ 1.ต้องเข้าใจคนฟังคือใคร 2.คนฟังต้องการอะไร 3.เราให้อะไรคนฟังได้ประโยชน์ 4.การฝึกซ้อม เพื่อทำให้เราสามารถนำเสนอได้ถูกต้อง ลื่นไหล ไม่ผิดพลาด และอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด
ทางด้านนายธรรมนูญ วันชะเอม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ตัวแทนทีม AGRO Watch1 ในทีมที่ได้รับการคัดเลือก กล่าวว่า ทางทีม AGRO Watch ได้มีการนำเสนอไอเดีย การจัดทำเว็บไซต์กลางสำหรับเป็นศูนย์พยากรณ์ราคาสินค้าเกษตรส่งออกและนำเข้าจากตลาดโลก โดยเว็บไซต์นี้จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ราคาสินค้าเกษตรส่งออกและนำเข้า โดยอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้จาก 2 หน่วยงานภาครัฐคือ กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เพื่อให้เกษตรกรยุคใหม่ได้มีเครื่องมือใช้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกปลูก หรือต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรชนิดนั้นๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้
ทั้งนี้ จุดเด่นของเว็บไซต์กลาง จะบรรจุข้อมูลที่ผ่านการแปลงค่าแบบอ่านยาก เช่น การนำเสนอราคาและข้อมูลสินค้าเกษตร รูปแบบกราฟแบบเดิมๆ ก็จะมีการแปลงให้เป็นข้อมูลที่อ่านเข้าใจง่าย ซึ่งมั่นใจว่า การเป็นศูนย์กลางพยากรณ์ราคาสินค้าเกษตรทั้งนำเข้าและส่งออกจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องราคาให้กับเกษตรกรได้ดีกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งข้อมูลมีความน่าเชื่อถือแม้ไม่ 100% แต่อย่างน้อย 90% มีความเชื่อถือได้
ขณะที่ทีม Law Mate โดย นายพัชร เมธาจิตติพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมหุ่นยนต์และโลจิสติกส์ ได้นำเสนอไอเดียการเป็น ระบบศูนย์กลางจัดการทุกเรื่องเอกสารที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย ไว้รองรับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) เพื่อช่วยลดขั้นตอนและเวลาการจัดเตรียมเอกสารในการเตรียมเอกสารติดต่อหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและกลุ่มบริษัทเอกชนต่างๆ ในการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด การจดลิขสิทธิ์ต่างๆกับหน่วยงานราชการ เป็นต้น โดยจุดเด่นของ ทีม Law Mate คือ มีผู้เชี่ยวชาญและมีผู้มีประสบการณ์หรือ Expert ด้านเอกสารทางกฎหมาย รวมถึงมีนักกฎหมายมืออาชีพเข้ามาเป็นโค้ชให้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ