พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับด้านการศึกษา ความว่า
“…การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรม ของบุคคลและสังคม บ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนล้วนพอเหมาะกันทุก ๆ ด้าน สังคม และบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ตลอด”
ด้วยความสำคัญดังได้กล่าวข้างต้น นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ทีมเรามา (ทำ) ดี ซึ่งประกอบด้วย นายณัฐภัทร ทุ่งแซะ นายยุทธภพ เรืองฤทธิ์ นายฐิติพงศ์ พันธ์ดี และ นายกฤษณพงศ์ สิทธิชัย มี ผศ.นิตยา ธัญญพาณิชย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จึงจัดทำ “โครงการผีเสื้อพระราชา” (RAMA Butterfly) เพื่อฝึกนิสัยรักการอ่านและการเขียนของนักเรียน อีกทั้งเพื่อให้เรียนรู้ศาสตร์พระราชาผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะให้อ่านได้และอ่านเป็น
นายณัฐภัทรกล่าวว่า ผีเสื้อพระราชาเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ ภายใต้โมเดล “Butterfly Model” แบ่งเป็น 4 ระยะคือ ระยะวางไข่ ระยะหนอน ระยะดักแด้ และระยะผีเสื้อ เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหานักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถอ่าน-เขียนได้ตามที่คาดหวัง หรือขาดนิสัยรักการอ่าน
กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนโรงเรียนสาธิต มรภ.สงขลา 30 คน ให้นักเรียนได้ตระหนักและเห็นคุณค่า พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ ทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันใฝ่เรียนรู้ อดออม ที่เป็นการออมความรู้ที่ไม่มีวันสูญสิ้น
ผลปรากฏว่านักเรียนอ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ 80 โดยกระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิด Butterfly Model แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ ระยะวางไข่ สร้างแรงบันดาลใจให้มีทัศนคติที่ดีและเห็นคุณค่าการอ่าน การเขียน เป็นการสร้างรากฐานในการพัฒนาให้ยั่งยืน
ระยะหนอน กิจกรรมสั่งสมการอ่าน เมื่อนักเรียนมีแรงบันดาลใจอ่านหนังสือแล้ว เปรียบดังหนอนที่กำลังหิวหลังออกจากไข่ ก็จะใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมสั่งสมการอ่าน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ระยะดักแด้ กิจกรรมนำเสนอผลงานผ่านกระบวนการงานเขียน ช่วยให้ผู้เรียนทบทวนความรู้ที่สั่งสมมา ได้ตกตะกอนความรู้อีกขั้นหนึ่ง เกิดเป็นความรู้ที่คงทนนำไปต่อยอดได้
ระยะผีเสื้อ ต่อยอดนิสัยรักการอ่าน นักเรียนแต่ละคนต้องกระจายนิสัยรักการอ่านกับคนรอบข้าง เสมือนการแพร่พันธุ์ผีเสื้อให้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเยาวชนผู้รู้งานที่พร้อมจะสานต่อและแบ่งปันประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย
นอกจากจะเห็นผลกับนักเรียน ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดผลงานเยาวชนอาสาสานต่อพระราชดำริ รับทุนการศึกษา 15,000 บาท ถ้วยรางวัลจากเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) โดยเป็น 1 ใน 20 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก จากกว่า 80 ทีมทั่วประเทศ
และแม้โครงการนี้จะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่นักศึกษาทีมเรามา (ทำ) ดี จะขยายโครงการผีเสื้อพระราชาให้แพร่หลายยังโรงเรียนต่าง ๆ ต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ