ได้เรียนรู้ทั้งเราและทั้งเขา นศ.ได้เรียนรู้แบบเข้มข้นก่อนลุยตลาดงาน ทั้งได้สัมพันธไมตรีข้ามชาติ ทั้งการเกษตร สังคมศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตย์
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวหลังเป็นประธานเปิดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่ประเทศเพื่อนบ้านCLMV ปีที่ 2ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์บริหารปัจจุบันมุ่งเน้นการเรียนรู้ของนักศึกษาจากการปฎิบัติจริง หรือ Experiential learning และยังเป็นการบริการวิชาการให้เห็นคุณค่าร่วมกันทั้งผู้ให้และผู้รับ
จากนโยบาย KKU transformations ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้าน ประชาคม หรือ ผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัย โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่ประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ครั้งนี้ สอดคล้องโดยตรงกับนโยบายดังกล่าว ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาหลักสูตรเดิมสู่การส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นโอกาสที่นักศึกษา จะได้ฝึกงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้เรียนรู้จากการทำงานจริง ทำให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง เป็นประโยชน์ต่อตนเองนำไปสู่การได้เปรียบเมื่อก้าวเข้าสู่ตลาดงาน
ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ประเทศเพื่อนบ้านผ่านตัวนักศึกษาและมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นพี่เลี้ยง เพื่อสร้างเครือข่ายด้านวิชาการ ธุรกิจ และช่วยเหลือสังคม รวมถึงสร้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ และเพื่อความต่อเนื่องของโครงการรวมทั้งขยายผลในวงกว้างต่อไป ปีนี้จึงมุ่งจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสู่ประเทศเวียดนาม และกัมพูชา เริ่มจาก สำรวจปัญหาและประสานงานในพื้นที่ จัดลำดับความสำคัญ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน จากนั้นจะนำข้อมูลปัญหาของพื้นที่มาระดมสมอง เพื่อคัดสรรองค์ความรู้ เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เหมาะสมในการถ่ายทอด โดยพิจารณาจากความพร้อมขององค์ความรู้ บุคลากร และผลกระทบและระยะเวลาความสำเร็จ
ทั้งนี้ หลังจากได้ข้อสรุป ที่เหมาะสมจะเตรียมความพร้อมของทีมนักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีที่จะถูกถ่ายทอดต้องมีนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างน้อย 5 คนต่อ 1 ทีม และอาจารย์ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่าง น้อย 1 คนต่อ 1 ทีม เชื่อว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฎิบัติจริง (Experiential learning) และยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศอีกด้วย
นายพสิษฐ์ ติวาวงศ์รุจน์ นักศึกษา ชี้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า โครงการของตนเองเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี IoT ไปพัฒนาระบบการเกษตรของเกษตรกรเวียดนาม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งต้องไปดูหน้างานอีกครั้ง ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เพื่อที่จะได้สร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ ของผู้ใช้งาน สำหรับข้อดีของการเรียนรู้ลักษณะนี้คือเราจะได้เห็นปัญหา ได้แก้ปัญหาในการทำงานจริง ซึ่งส่งผลดีมากเวลาเราจะไปทำงานในอนาคต
ทั้งนี้ในโครงการ มีผู้ร่วมโครงการ 6 ทีม รวม 51 คน ประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งหมด 11 คน นักศึกษา 40คน แบ่งเป็น การถ่ายทอดเทคโนโลยี ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 3 ทีม 3 เทคโนโลยี ได้แก่ 1. Digital libraryคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ Pannasastra University of Cambodia (PUC) 2. Medical Media คณะแพทยศาสตร์ ไปถ่ายทอดความรู้ที่โรงพยาบาลรอยัลพนมเปญ และ 3. ทีม VDO จากวิทยาลัยนานาชาติ โดยลงพื้นที่ระหว่างวันที่ ในวันที่ 30 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2562
และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม 3 ทีม 4 เทคโนโลยี ได้แก่ 1. Chatbot and IoT คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตหนองคาย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ Chatbot ให้กับผู้ประกอบการเวียดนาม และนำเทคโนโลยี IoT มาปรับปรุงการทำการเกษตรของเกษตรกรเวียดนาม 2. Product Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่จะออกแบบและปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ของสินค้าให้กับผู้ประกอบการเวียดนาม และ 3. VDO จากวิทยาลัยนานาชาติ โดยลงพื้นที่ในระหว่างวันที่ 7 – 13 ก.ค.62
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ