น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญในการอุปโภคและบริโภค แต่ในปัจจุบันเราไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้โดยตรง เนื่องมาจากการปนเปื้อนของสารต่างๆ จากการปล่อยน้ำที่ใช้งานแล้วลงในแหล่งน้ำ
ดังนั้น น้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนที่จะปล่อยลงกลับคืนสู่แหล่งน้ำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
น.ส.สิริลักษณ์ เอกวงษ์ น.ส.ชญานิศ ป้อมบุบผา และนายทิวัตถ์ ตรังวัชรกุล นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้คิดค้นผลงานนวัตกรรมการผลิตสารสร้างตะกอนธรรมชาติจากเมล็ดมะม่วงที่เป็นวัสดุที่เหลือใช้จากทางการเกษตรเพื่อใช้ในกระบวนการกำจัดสารแขวนลอยต่างๆ ในน้ำ เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตร
ผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลถึง 2 รางวัลคือ รางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจาก WORLD INVENTORS ASSOCIATOIN ที่งานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ World Invention Innovation Contest 2018 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
ผศ.ดร.ทรงเกียรติ ภัทรปัทมาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า กระบวนการโค-แอกกูเลชั่น (Coagulation) เป็นกระบวนการหนึ่งที่นิยมใช้ในระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อกำจัดความขุ่นและสารแขวนลอยต่างๆ โดยจะใช้สารสร้างตะกอนเพื่อรวมสารแขวนลอยให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้จมตัวได้เร็ว
สารสร้างตะกอนที่นิยมใช้ทั่วไปคือ สารส้ม เฟอร์ริกคลอไรด์ และโพลิเมอร์ ซึ่งแต่ละชนิดมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น สารส้ม จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าพีเอชในน้ำ สารเฟอร์ริกคลอไรด์จะส่งผลให้น้ำเกิดสีที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนสารโพลิเมอร์นั้นมีราคาที่ค่อนข้างสูง
เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรและของเหลือใช้ต่าง ๆ จะมีสารอินทรีย์บางประเภทที่สามารถนำมาใช้เป็นสารสร้างตะกอนได้ ในการศึกษานี้จึงเลือกใช้เมล็ดมะม่วงเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการสกัดสารสร้างตะกอนธรรมชาติ โดยนำเมล็ดมะม่วงมาบดเป็นผงแล้วมาผสมกับตัวทำละลาย เมื่อผ่านกระบวนการสกัดต่างๆ สารละลายที่ได้จะมีลักษณะเป็นสารสร้างตะกอน
จากการทดสอบพบว่าสารสร้างตะกอนธรรมชาติจากเมล็ดมะม่วงมีความสามารถในการกำจัดความขุ่นมากถึงร้อยละ 90 โดยใช้สารละลายเพียง 2-4 มิลลิลิตรเท่านั้น ซึ่งประสิทธิภาพที่ได้ใกล้เคียงกับการใช้สารส้มในปริมาณเดียวกัน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ