จากความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์บริการและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ที่ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เมื่อ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ20 ราย ในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกเพื่อการส่งออกของผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคกลาง
ถึงวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นการบูรณาการระหว่างผลิตภัณฑ์โอ่งมังกรของจังหวัดราชบุรีกับผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทเบญจรงค์ของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเซรามิกกลุ่มจังหวัดภาคกลางสามารถออกแบบและพัฒนารูปแบบและลวดลายใหม่ ๆ ให้โดดเด่นและแตกต่าง เพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งจึงได้จัดพิธีปิดโครงการ ณ โรงแรมรามาดา พลาซ่า แม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ เมื่อ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา
น.ส.อุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิการบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการและ มจพ. ได้ร่วมกันพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เซรามิก ทั้ง SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้มีรูปแบบเป็นที่ต้องการของลูกค้าและจะขยายช่องทางตลาด สิ่งสำคัญ คือ เพื่อการส่งออก ซึ่งกลุ่มของภาคกลางมาลงที่จังหวัดราชบุรี 8 โรงงานและสมุทรสาคร 12 โรงงาน
จากที่ได้ติดตามงานพบว่า ในปี 60-61 มีการทำงานที่ต่อเนื่อง ผู้ประกอบการใดที่สามารถผลักดันไปได้ก็ได้เชิญเข้ามาร่วมโครงการฯ ในปี 61 ได้เห็นถึงการพัฒนาของผู้ประกอบการ เนื่องจากได้สอนวิธีการให้ผู้ประกอบการมีความยั่งยืน มีแนวคิดออกแบบต่อไปด้วย หากจบโครงการแล้ว เมื่อกรมวิทยาศาสตร์บริการ และ มจพ.ถอยหลังออกมาแล้วผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการกับเรา ต้องมีแนวคิด มีการพัฒนารูปแบบ ให้มีความสอดคล้องกับลูกค้า ไลฟ์สไตล์ของคนไทย ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบร่วมสมัยก็จะเป็นที่ต้องการของลูกค้า
อ.สุรสิทธิ์ แสงสุริยะ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ. กล่าวว่า ในส่วนของ มจพ. ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสากิจชุมชน เป็นความชำนาญของทางสาขาเซรามิก คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ในเรื่องครีเอทีฟได้ช่วยผู้ประกอบการที่มีฝีมือด้านการผลิตอยู่แล้ว นำ 2 อย่างมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมา เกิดการออกแบบและผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ
เบื้องต้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ผู้ประกอบการมีการพัฒนาต่อ คาดหวังว่าในอนาคตถ้ามีโครงการต่อไป น่าจะเป็นโอกาสที่ดี สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ของก.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้มอบหมายโครงการนี้ให้ มจพ.ดำเนินการ
อ.สุรสิทธิ์กล่าวว่า ได้เข้าไปช่วยสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ โดยมจพ.ได้ศึกษาเทรนของเซรามิก ไลฟ์สไตส์ของคนที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์แบบนี้ ใช้เป็นองค์ประกอบในการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมา เช่น กระถางที่เป็นโอ่งมังกรหรือกระถางบัว มีการย่อส่วนและใช้ลวดลายที่ละเอียดมากขึ้นหรือประยุกต์เอาไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเลย ที่ผู้บริโภคปัจจุบันที่มีไลฟ์สไตส์คนเมืองหรือคนรุ่นใหม่ หยิบจับและสามารถนำเอาไปใช้งานได้จริง
“โครงการนี้อาจะจะประสบความสำเร็จไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย เป็นการกระตุ้นและทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่า เขาไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้ เขาไม่สามารถทำผลงานเดียวได้ ต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามในเรื่องของเทรนในการออกแบบ ตรงนี้ถ้าผู้ประกอบการสามารถเข้าใจ บวกกับประสบการณ์และฝีมือที่มีจะเป็นการทำธุรกิจที่ดีมาก”
ด้านคุณรัชนี ทองเพ็ญ เจ้าของกิจการ โรงงานแดงเบญจรงค์ กล่าวว่า เมื่อข้าโครงการเราจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา ทางโรงงานได้ผลิตสินค้าเครื่องหอม ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำ ซึ่งมจพ.มาช่วยในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ชิ้นงานที่เราอยากได้ให้ทันสมัยมากขึ้น ที่สำคัญขายได้ด้วย ปกติเรามีเว็บไซต์และมีหน้าร้าน เมื่อทาง มจพ.มาช่วยดูแลในเรื่องการออกแบบ ภายใน 2 ปี ทางโรงงานมีตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา 5 แบบทีเดียว
“โครงการนี้ดี เพราะมีอาจารย์มาช่วยดูในเรื่องการออกแบบให้เราสามารถต่อยอดไปได้ ซึ่งวันนี้ก็ได้พาลูกมาด้วย เพื่อจะได้มาเห็นผลงานและจะได้เห็นถึงผลิตภัณฑ์งานใหม่ ๆ ว่าเป็นอย่างไร เขาจะได้ไปต่อยอดให้กับเด็กรุ่นใหม่ด้วย” คุณรัชนี กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ