ในอนาคตอันใกล้นี้ระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น และจะมีหุ่นยนต์อัจฉริยะ หรือ AI ที่สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้เทียบเคียงมนุษย์มากที่สุด รวมถึงหุ่นยนต์จำพวกเครื่องจักร ก็จะถูกสร้างให้มีแกนสมองที่ฉลาดมากยิ่งขึ้น
ฉะนั้น ศาสตร์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จึงเป็นศาสตร์ที่นับวันจะยิ่งพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ บุคลากรที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงสถานศึกษา บุคลากรด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะสำคัญต่อประเทศไทยและสำคัญต่อประชาคมโลกมากขึ้น
จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สถานประกอบการและสังคม เรื่อง การประดิษฐ์และเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์สำหรับนักเรียนมัธยมด้วยอาดุยโน่ ณ ห้อง 319 อาคาร 18 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ผศ.วิทยา ศรีกุล หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า การจัดโครงการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สถานประกอบการและสังคม ถือเป็นภารกิจหลักในการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยนำความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มาจัดอบรมเรื่อง การประดิษฐ์และเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์สำหรับนักเรียนมัธยมด้วยอาดุยโน่ เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาสามารถต่อยอดความรู้ตามความถนัดของตนเองได้
เริ่มจากปัญหาของการซื้อชุดทดลองแบบสำเร็จรูปมาทดลองทำชิ้นงาน แต่ไม่ตรงตามความต้องการในการเรียนรู้ของนักเรียนในจังหวัดนครราชสีมา สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มทร.อีสาน จึงระดมสมองร่วมกันว่า จะร่วมกันสร้างเครื่องมือที่ตรงกับความต้องการของผู้ทดลองใช้เอง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนและอาจารย์โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีเพียงทฤษฏีจากหนังสือเล่มใหญ่ๆ แต่โรงเรียนต้องการส่งเสริมศักยภาพนักเรียน ให้เข้าถึงสื่อเฉพาะทาง เช่น ด้านไมโครคอมพิวเตอร์ ด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ ฯลฯ
ประกอบกับสาขาวิศวะคอมฯ ของมทร.อีสาน มีองค์ความรู้ และมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ รวมถึงการมีเครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้ว จึงได้จัดโครงการและประชาสัมพันธ์ให้เครือข่ายโรงเรียนคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยการอบรมในครั้งนี้ได้ใช้โปรแกรมภาษาซี และใช้เพียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ซึ่งราคาไม่แพงและสามารถทำงานได้ตามคำสั่งที่ต้องการได้ ซึ่งปัจจุบันเด็กมัธยมจะได้เรียนภาษาซีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อยู่แล้ว ทำให้นักเรียนสามารถนำมาต่อยอดผลงานได้
ผศ.วิทยาเล่าวว่า ในส่วนโปรแกรมภาษาซีที่นำมาใช้อบรมครั้งนี้ จะทำให้นักเรียนไม่เบื่อ เพราะเมื่อเขียนภาษาซีลงในการควบคุมหุ่นยนต์ ให้สามารถควบคุมให้ไฟติดหรือไฟดับได้ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาได้ สามารถควบคุมให้มอเตอร์หมุนไวหมุนช้าได้ สามารถทำให้แขนกลขยับเขยื้อนได้ ทำให้นักเรียนสนุกไปด้วย วันนี้เขามีความสุขในการทำชิ้นงานที่สำเร็จ ที่ผ่านมานักเรียนที่เคยเข้าร่วมโครงการก็มาเรียนสาขาวิศวะ กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือแมคคาโทรนิกส์ ก็ใช้ศาสตร์นี้ด้วย
ด้านด.ช.อริย์ริช ดาวงาม (สตางค์) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมารีย์วิทยา นครราชสีมา ที่สนใจวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เล่าว่า เคยมาร่วมอบรมเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อทราบว่ามีอบรมการประดิษฐ์และเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ด้วยอาดุยโน่ในปีนี้ จึงสนใจเข้าร่วม เพราะชอบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว อยากรู้ว่าคอมพิวเตอร์สามารถทำอะไรได้บ้าง ที่ผ่านมาเคยเขียนโปรแกรมมากมาย มาวันนี้มีการเพิ่มเรื่องของการต่อวงจรเพื่อใส่ข้อมูลให้หุ่นยนต์ทำงานตามโจทย์ของเราด้วยโปรแกรมภาษา C มีการต่อวงจรไฟ ซึ่งไม่เคยทำ ถือว่ายากแต่ก็ทำได้
“ทีมของเราวันนี้มากัน 4 คน คุยกับเพื่อนว่าทำยังไง ถามอาจารย์ เราทำงานเป็นทีม เรารับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และสุดท้ายชิ้นงานก็สำเร็จครับ และสิ่งที่ได้ในวันนี้ผมและเพื่อนๆ จะนำกลับไปทำชิ้นงานอื่นต่อ ยอดงานให้มีความพิเศษต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายผมเชื่อว่าคนเรียนเก่งหรือเรียนไม่เก่งไม่สำคัญครับ อยู่ที่ว่าเราได้ค้นพบว่าตัวเราชอบอะไรและต้องการเดินไปทางไหนมากกว่า ในอนาคตผมอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ เพราะประเทศไทยจะต้องพัฒนาด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ครับ”
ขณะที่น.ส.พนิดา เกิดกุลัง (พิม) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนปากช่อง กล่าวว่า อาจารย์ที่โรงเรียนแนะนำว่ามีอบรมเรื่อง การประดิษฐ์และเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์สำหรับนักเรียนมัธยมด้วยอาดุยโน่ เลยสนใจเข้าร่วม เพราะอยากเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ตัวเอง ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าร่วมอบรมโครงการอะไรมาก่อน พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม การต่อวงจร ที่ไม่เคยทำมาก่อน ยิ่งท้าทายความสามารถ
“มันยากมากค่ะ แต่สนุกมาก อาจารย์ดูแลดีเป็นกันเอง และให้คำแนะนำตลอด ทำให้ชิ้นงานของโรงเรียนเราสำเร็จลงได้ด้วยดี ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้มาลองค้นหาตัวเองเพื่อตัดสินใจศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย สุดท้ายขอขอบคุณผู้จัดโครงการนี้อยากให้จัดแบบนี้ให้กับรุ่นน้องต่อไปค่ะ”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ