อีกความเคลื่อนไหวในเรื่องกัญชาที่จะเป็นยารักษาโรคของประเทศไทย
เมื่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตสกลนคร ร่วมกับสถาบันแคนาบินอยด์แห่งสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตรการแพทย์แคนาบินอยด์ :การใช้ยาตำรับกัญชารักษาผู้ป่วย-แผนไทย โดยสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมฯ ร่วมกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และเครือข่ายคณะวิชาการด้านกัญชาการแพทย์มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน รุ่นที่ 1 เมื่อไม่นานมานี้
ทั้งนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับหลายหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์แผนไทย ในการผลิตพัฒนาและสกัดยาจาก “กัญชา” เพื่อการรักษาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฏหมายพร้อมประกาศความพร้อมเป็นแหล่งผลิตที่มีมาตรฐาน (ต้นทาง) วิจัยและสกัดน้ำมันกัญชา (กลางทาง) และใช้รักษาผู้ป่วยทั้ง 16 ตำรับ (ปลายทาง) และผลักดันเข้าสู่นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค โดยจะปลูก วิจัย และสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์ ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ อ.พังโคน จ.สกลนคร
รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มทร.อีสานกล่าวว่า มทร.อีสาน และสถาบันแคนาบินอยด์และเครือข่ายเห็นพ้องต้องกันจะตั้งปณิธาน วางตำแหน่งร่วมกัน ในการพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์และการรักษาให้เป็นมาตรฐานโลก เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษให้ประจักษ์ต่อประชาคมโลก
ทั้งนี้ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร มีการเรียนการสอนครบทั้งกลุ่มสาขาวิชาต้นทางหรือผู้ผลิต มีหลักสูตรนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย สาขาพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ ประมง ส่วนกลุ่มสาขาวิชากลางทางประกอบด้วย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร (food science) ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อความงาม การบริบาลผู้สูงอายุ
ที่สำคัญสาขาการแพทย์แผนไทย ทั้ง ป.ตรี ป.โท แพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต ปลายทางมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรม ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart farm) การขนส่ง (Logistic) เทคโนโลยี ไอที และบริหารธุรกิจ
อนึ่ง สภามหาวิทยาลัยได้ให้วิทยาเขตสกลนคร เป็นหลักในเรื่องอาหารและสุขภาพ (food and health) จึงมุ่งเน้นเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม และการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาไทย ตามธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2548 จึงเกิดสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย และจัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท ที่ปฏิบัติงานได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตามธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2548
จากนั้นได้ร่วมกับอโรคยาสาร วัดคำประมง โดยหลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม ซึ่งได้รับดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แพทย์แผนไทย มทร.อีสาน ร่วมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ร่วมกับวัดคำประมงภายใต้ดำริของหลวงตา โดยเฉพาะกัญชาทางการแพทย์ ตำรับยารักษาโรคมะเร็ง
เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พุทธศักราช 2562 เกิดขึ้น มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จึงมุ่งมั่นพัฒนาร่วมกับทุกเครือข่ายเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ ด้านกัญชารักษาโรค
ทั้งนี้ จะเป็นศูนย์กลางการแพทย์ และวัตถุดิบสมุนไพรที่ใช้ได้ในระยะยาว โดยจะผลิตวัตถุดิบทุกตัวที่อยู่ใน 16 ตำรับ ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 92 ชนิด ให้ได้มาตรฐานโลกด้วย รักษาและบริการด้วยการแพทย์แผนไทย คนไทยต้องเข้าถึงตำรับยานี้ด้วย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล ผอ.สถาบันแคนาบินอยด์ฯกล่าวว่า สถาบันฯได้เล็งเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเองในด้านการรักษาโรคต่างๆ ด้วยยาที่มาจากทรัพยากรของไทย และตั้งใจที่จะนำยาดังกล่าวสู่พี่น้องคนไทย พร้อมทั้งนำรายได้มหาศาลกลับเข้าไทย
สมาคมได้จัดทำตำราที่เกี่ยวข้องกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ จวบจนปัจจุบันพบว่าไทยมีสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก นั่นคือกัญชา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่ามีสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อสุขภาพ ทั้งทางบวกและทางลบ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางวิชาการเข้ามาบริหารจัดการ เพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของสาธารณะยิ่ง จำเป็นต้องมีกฏหมายเข้ามาเป็นตัวเชื่อมประสาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะต่อคนในประเทศไทย และคนทั่วโลก
ในด้านกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ขณะนี้กัญชา ยังอยู่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษปี 2522 ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น เพียงแต่แก้ไขฉบับที่ 7 โดยเพิ่มคำว่าสามารถให้ใช้ทางการแพทย์และการวิจัยได้ ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ไทย ได้วางตำแหน่งกัญชาได้ถูกทิศถูกทางแล้ว
สมาคมฯ จะเน้นเรื่องช่วยเหลือประชาชนด้วยการจัดทำข้อเสนอโครงการต่อรัฐ ด้านวิชาการและกระตุ้นให้ปรับแก้กฏหมายทั้งกฏหมายหลักและรอง เชื่อมประสานทั้งกฎกระทรวงและกฎประกาศต่างๆ ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้เข้าพบผู้ตัดสินใจทั้งหมดมาแล้ว จึงเกิดเป็นนโยบายอย่างที่ได้เห็นตามสื่อต่างๆ และหน่วยราชการก็หันมาฟอร์มกฎหมายที่ไปด้วยกันได้ มุ่งหมายที่จะสร้างมาตรฐานอาหารและยาจากพืชกัญชาไทย ในเวทีโลก คือในประเทศใช้แต่ไม่นำเข้า แต่เวทีโลกไทยจะเป็นหนึ่งด้วยมาตรฐาน
ดังนั้น จึงต้องสร้างมาตรฐานทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกัญชา ตั้งแต่คัดเลือกสายพันธุ์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ หาลักษณะตามสภาพแวดล้อมและการแสดงออกทางพันธุกรรม (Phenotype) ชุดยีนควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม (Genotype) และการวิเคราะห์สารสำคัญ ตลอดจนผลิตเป็นยาในรูปแบบยาทุกชนิดหรืออาหารทุกประเภท แต่ต้องให้มีภาพลักษณ์ที่ดีควบคู่คุณภาพ
สมาคมฯมุ่งหมายให้แพทย์ทุกศาสตร์ทำงานร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด และหวังมากกว่านั้นคือ อยากให้คนไทยมีความรู้เรื่องกัญชาอย่างละเอียด และสามารถพึ่งตนเองได้ ป่วยให้น้อยที่สุด และเมื่อจำเป็นต้องใช้ยากัญชาใช้ให้ตรงจุดที่สุด ยาจึงจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ