27 ส.ค.นี้ ที่ม.แม่ฟ้าหลวง เปิดมุมมองทั้งไทย-เทศ หวังสร้างเครือข่ายอาสาสมัครรับสถานการณ์ภัยพิบัติ
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์ และโครงการสันติไมตรีไทย – ญี่ปุ่น (Japan Watch Project) จะจัดประชุมสรุปบทเรียน ‘จากทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงถึงปัญหาภัยพิบัติ: ชาวเชียงรายเรียนรู้อะไร?’ ในจันทร์ที่ 27 ส.ค.61 เวลา 08.00-16.00 น. ที่ห้องคำมอกหลวง ชั้น 5 อาคาร Education Park (E-Park) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
รศ.ดร.ศิริพร วัชชวัชคุ คณบดีสำนักวิชานวัตกรรมสังคม เปิดเผยว่า การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อถอดบทเรียนการทำงานอาสาสมัคร และการประสานงานให้ความช่วยเหลือในกรณีทีมหมูป่าอะคาเดมีและปัญหาภัยพิบัติในจังหวัดเชียงรายจากมุมมองของผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่น และเพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานอาสาสมัครในการจัดการปัญหาภัยพิบัติโดยใช้ข้อมูลจากฝ่ายญี่ปุ่นประกอบด้วย ตลอดจนเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อการทำงานอาสาสมัครในการสถานการณ์ภัยพิบัติ
กิจกรรมในภาคเช้าจะมีการ อภิปรายหัวข้อ ‘บทเรียนงานอาสาสมัครและการให้ความช่วยเหลือทีมหมูป่าถึงการจัดการภัยพิบัติจังหวัดเชียงราย’ บทบาทของอาสาสมัครกับงานภัยพิบัติเชียงราย ภาคบ่าย จะมีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นบทเรียนกรณีทีมหมูป่า 5 กลุ่ม ประเด็น บทบาทในฐานะอาสาสมัครในการให้ความช่วยเหลือทีมหมูป่า, บทเรียนในการทำงานอาสาสมัครและปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอต่อการทำงานอาสาสมัครในอนาคตหากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาอีก
นอกจากนี้ ยังมีการสรุปประเด็นสำคัญจากการนำเสนอ และประชุมระดมความคิดเห็นหัวข้อ ‘แนวทางการขับเคลื่อนให้จังหวัดเชียงรายมีแผนเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ’ สอบถามเพิ่มติดต่อ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มฟล. 0-5391-6667
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ