-- advertisement --

 มมสจับมือกรมวิทย์ทำฐานข้อมูล-แอพฯตรวจเห็ดพิษลดเหยื่อป่วย-ตาย

จัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดกินได้ พัฒนาแอพฯตรวจสอบชนิด คาดจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้เดือนสิงหาฯนี้

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) โดยคณะวิทยาศาสตร์ ได้ลงนามความร่วมมือ “การจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ในประเทศไทยและการพัฒนาApplication Mushroom Image Matching” ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยศ.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดี มมส ลงนามร่วมกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

รศ.ดร.ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา มมส กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเกิดจากชาวบ้านมักเข้าไปเก็บเห็ดมาบริโภค โดยมีความเข้าใจและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ในการระบุชนิดของเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้ นอกจากนี้ ช่วงเวลาในการเก็บเห็ดโดยเฉพาะในช่วงเช้ามืด มีแสงสว่างค่อนข้างน้อยอาจจะทำให้เก็บเห็ดพิษที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดรับประทานได้ปะปนมาด้วย

จากรายงานข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ปีละมากกว่า 1,000 คน เสียชีวิตปีละ 5-10 ราย พื้นที่ที่พบรายงานเกิดสถานการณ์ที่มีอัตราการเจ็บป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งเห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ (เห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดไข่ตายซาก) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่รับประทานได้และเห็ดหมวกจีนที่มีลักษณะคล้ายเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน

ทั้งนี้ ในการจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มมส จะสนับสนุนบุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถทำงานวิจัยด้านเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนภาพถ่ายเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้จากฐานข้อมูลในพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในการตรวจสอบลักษณะของเห็ดในโปรแกรม Application Mushroom Image Matching อีกทั้งประเมินประสิทธิภาพ Application Mushroom Image Matching กับนิสิตหลักสูตรปริญญาตรี-เอกในรายวิชาเกี่ยวกับเห็ดเพื่อตรวจสอบชนิดของเห็ดในภาคสนาม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า การจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสายพันธุ์อ้างอิงในประเทศ รวมทั้งพัฒนาApplication Mushroom Image Matching เพื่อตรวจสอบชนิดของเห็ดได้อย่างรวดเร็วจากโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาApplication จำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายลักษณะที่สำคัญต่างๆ ของเห็ดจำนวนมากเพื่อใช้ประมวลผลที่ถูกต้องและแม่นยำ จึงได้ขอความร่วมมือจาก มมส ซึ่งมีหน่วยงานพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายของเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ที่สำรวจพบในประเทศไทยเข้าร่วมดำเนินงานในโครงการ

สำหรับการลงนามร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้เป็นแหล่งอ้างอิงสายพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ด้านงานวิจัย บริการวิชาการและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการพัฒนา Application Mushroom Image Matching สำหรับบริการวิชาการและการเรียนการสอน อีกทั้งจัดทำคู่มือเห็ดพิษสำหรับ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการเฝ้าระวังการรับประทานเห็ดพิษของประชาชนร่วมกัน ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวคาดว่าจะสำเร็จพร้อมทดลองใช้งานได้ในเดือน ส.ค.นี้

-- advertisement --