สานต่อ “ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน” รวมดวงใจสามัคคี
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน) ร่วมกับเครือข่ายนิสิต ๙ ต่อBefore After และกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดกิจกรรมโครงการ“น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ๙ ต่อทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน”
ทั้งนี้ มีดร.มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต เป็นประธานนำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีแห่งการครองราชย์ ทรงบรรลุพระราชสัตยาธิษฐาน ตามพระปฐมบรมราชโองการอย่างแท้จริง และพระมหากรุณาธิคุณอเนกอนันต์ ทรงบำนุบำรุงบ้านเมือง ปกครองแผ่นดิน และดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดิน
ภายในงานได้จัดกิจกรรมร้องเพลงพระราชนิพนธ์ โดยศิลปิน มมส (วิทยาลัยดุริยางคศิลป์) กล่าวถวายความอาลัย และสัตย์ปฏิญาณ ลำกลอนรำลึกพ่อหลวงปวงไทย (วงแคน) ลำกลอนอาลัยพ่อ (ปูเป้ มัลลิกา) ร้องเพลงเล่าสู่หลานฟัง (แทน ชาวดิน) ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี (นำโดยบอย ศิริชัย พร้อมคณาจารย์และนิสิต)
จากนั้นผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร ศิลปิน และนิสิต ร่วมกันร้องเพลงรักพ่อไม่พอเพียง ก่อนจะรวมดวงใจด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ร่วมจุดเทียนอาลัยแปรอักษรภาพ4,000 เล่ม แปรภาพ องค์พระบรมธาตุนาดูน และอักษร มมส ๙ ต่อ “น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ๙ ต่อ ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน” ซึ่งภาพที่ปรากฏนั้น แปรความหมายได้ว่า
องค์พระบรมธาตุนาดูน หมายถึง สัญลักษณ์แทนความเป็นจังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของตะวันออกเฉียงเหนือ จนได้รับการขนานนามว่า “สะดืออีสาน” ซึ่งมีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสงบ ความรัก ความสามัคคี หลากล้นด้วยจารีตประเพณีและอารยธรรม โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือเมืองแห่งการศึกษาอีกแห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทีเรียกว่า “ตักสิลานคร” ซึ่งได้อัญเชิญองค์พระบรมธาตุนาดูน มาเป็นสัญลักษณ์หลักในตราโรจนากร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เลข ๙ หมายถึง ๙ ต่อความดีตามแนวทางพระราชดำริ/ดำรัส/พระราชปณิธาน รวมถึงการสื่อถึงการขับเคลื่อนโครงการ ๙ต่อ Before Afterระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับสังคม เพื่อสืบสานการทำความดีจากรัชกาลที่ ๙ สู่รัชกาลที่ ๑๐
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ