32 แหล่งเที่ยวเมืองโอ่ง
ดันจุดขายฟื้นวิกฤติเกษตรกร
เราอาจรู้จักราชบุรีในฐานะที่มีโอ่งมังกรเป็นเอกลักษณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เรารู้จักเพราะนี่นั่นมีสถานที่พักตากอากาศที่สุดชิลล์ชิค ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเข้ามาสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบแต่ละปีอย่างมหาศาล แต่มากกว่า 80 % สถานที่พักตากอากาศอันโด่งดัง ล้วนเป็นนายทุนต่างถิ่น
ในขณะที่จังหวัดราชบุรี เป็นเมืองเกษตรแต่เกษตรกรประสบปัญหาการทำการเกษตร และหนี้สิน อีกทั้งปัญหาความยากจน จะทำอย่างไรให้เกษตรกรเหล่านี้สามารถลืมตาอ้าปากมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
มหาวิทยาลัยราชภัฎจอมบึง จ.ราชบุรี จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตามแผนงานโครงการวิจัยท้าทายไทยและโครงการวิจัยตอบสนองนโยบายเป้าหมายรัฐบาลตามระเบียบวาระแห่งชาติ กลุ่มเรื่อง นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยดำเนินโครงการ การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรตามเส้นทางท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมของชุมชนจังหวัดราชบุรี ขึ้น
ดร.ทัศนีย์ นาคเสนีย์ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์การจัดการสาขาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฎจอมบึง ในฐานะหัวหน้าโครงการการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามเส้นทางท่องเที่ยวท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมของชุมชนจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ตนอยู่ราชบุรีมายาวนานเห็นปัญหาของชาวบ้านและเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยจึงคิดทำโครงการดังกล่าวขึ้นซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จ.ราชบุรี ในการผลักดันให้จังหวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
งานวิจัยดังกล่าว ใช้กระบวนการวิจัยที่เรียกว่า งานวิจัยเชิงพื้นที่ มุ่งศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ จอมบึง ปากท่อ สวนผึ้ง และบ้านคา ซึ่งมีความโดดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ ด้านภูมิปัญญา ความเป็นเจ้าบ้านที่ดี การเดินทางเข้าถึงสะดวก
การศึกษาวิจัยพบเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใน 4 อำเภอ รวมระยะทาง 124 กิโลเมตร (ตั้งแต่แยกเจดีย์หับ แยกนิสสิน แยกชินศรี ถึงแยกปากท่อง) รวมทั้งสิ้น 32 แห่ง ครอบคลุมกลุ่มเกษตรก 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกสับปะรด ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกผลไม้ พืชผักสวนครัวปลอดสาร และแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร โดยทั้ง 32 แห่ง ผู้วิจัยได้เชื่อมโยงข้อมูลโดยสำรวจและสัมภาษณ์เจ้าของแหล่งท่องเที่ยวไว้ในเฟสบุคและคิวอาร์โค้ดทั้งหมด
“จากการศึกษาวิจัยพบว่าสิ่งที่เราค้นพบแหล่งที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ 32 จุดนั้น บางแหล่ง ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเป็นได้ด้วย เราในฐานะนักวิจัย ทำหน้าที่เหมือนสโนว์บอล ถามไปเรื่อยๆ ไปเจอผู้รู้ก็ถามผู้รู้ เจอปราชญ์ก็ถามปราชญ์เจอคนเฒ่าคนแก่ก็เข้าไปถาม จนสามารถรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวมาได้ ซึ่งในอนาคต เราสามารถที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 32 จุดใน 4 อำเภอนี้ให้เป็นแหล่งเที่ยวและเรียนรู้ทั้งเชิงประสบการณ์และเชิงเกษตรกร ให้เป็นที่รู้จัก เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของราชบุรีได้ ไม่แพ้ที่พักตากอากาศ เพราะจากการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ชอบการท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์ได้เรียนรู้แบบครอบครัวมากขึ้น”
นอกจากนี้ จากการดำเนินโครงการฯ ยังสามารถจัดตั้งตลาดชุมชนในรูปแบบที่ชุมชนกำหนดอนาคตของตนเอง ชื่อตลาดชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพสตรีบ้าน ต.ยางหัก 4 อ.ปากท่อ ในรูปแบบสหกรณ์ร้านค้าร่วมทุนมีรูปแบบบริหารจัดการโดยคณะกรรมการบริหารมีสมาชิก 27 ราย มีผู้ถือหุ้น 134 หุ้น จำหน่ายสินค้าพืชผักสด ผลไม้ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่มี.ค. 61
ปัจจุบันได้ยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนเรียบร้อยแล้ว ที่นี่ไม่ใช่ตลาดธรรมดาทั่วไป แต่ยังเป็นศูนย์กลางการอบรม และศูนย์ประสานงานท่องเที่ยว เนื่องจากปีที่ผ่านมา หมู่บ้านหินสี ได้รับงบพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ในปี 62 และต้องการพัฒนาตลาดให้เป็นจุดแวะพักเที่ยวอีกด้วย
ดร.ทัศนีย์ กล่าวว่า ในอนาคต เราอยากจะทำวิจัยศึกษาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อยกระดับเส้นทางท่องเที่ยวสู่แพลตฟอร์มที่สูงขึ้น ราชบุรียังมีฐานทุนเดิมที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกมาก เช่น การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมไทยกะเหรี่ยง ต้องการต่อยอดงานวิจัยไปอีกขึ้นจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นท่องเชิงนิเวศ และเชิงวัฒนธรรม
“เราจะต้องมุ่งสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวต่างๆ ให้เอเจนท์สามารถเชื่อมโยงและเจรจาต่อรองเรื่องราคาได้โดยที่ไม่ต้องย้อนกลับมาที่ทีมผู้วิจัย ซึ่งจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น นักวิจัยจะต้องพัฒนาให้ชาวบ้านกล้าที่จะก้าวขึ้นมาข้างหน้า ชูจุดขายที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของชุมชน ไม่ลอกเลียนแบบ เพราะนั่นคือต้นทุนที่แท้จริงของชุมชน เราแค่ไปร่วมกับแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ที่เราพัฒนาขึ้นหรือที่สวนผึ้งก็ได้”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ