หนึ่งในของดีอุตรดิตถ์ที่ขึ้นชื่อคือ ทุเรียนหลงลับแล และหลินลับแล ซึ่งจากพื้นที่ปลูกทุเรียน 40,000 ไร่ จะเป็น2 พันธุ์นี้ประมาณ 3 พันไร่ โดยทุเรียนพื้นเมือง 2 ชนิดนี้ สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่กว่า 50ล้านบาทต่อปี
ชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้น ปัญหาก็ตามมา โดยเฉพาะมาตรฐานทุเรียนในตลาด ทั้งการหลอกขายทุเรียนจากแหล่งอื่น ขายทุเรียนอ่อน ขณะที่ชาวสวนทุเรียนก็ยังเผชิญการขาดน้ำ การบำรุงดิน รวมถึงโรคต่างๆ อันส่งผลต่อคุณภาพ ขณะที่การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่การปลูกแบบวนเกษตร ก็ยังขาดข้อมูลที่ชัดเจน
จึงเป็นที่มาของชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแล ในระบบวนเกษตร เพื่อความมั่นคงทางด้านเกษตรและอาหารของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่องนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนา (สวพ.) มรภ.อุตรดิตถ์ในฐานะหน่วยบริหารจัดการงานวิจัย ได้จัดสรรทุนกับนักวิจัยใน 3 ศาสตร์ คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวม 23 งานวิจัย ภายใต้ประเด็นหลักสี่ด้านคือ พัฒนาระบบสารสนเทศ บริหารจัดการดินน้ำป่าในระบบวนเกษตร มาตรฐานคุณภาพทุเรียน และประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ในระบบวนเกษตรการปลูกทุเรียน
ดร.กิตติ เมืองตุ้ม รองผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.อุตรดิตถ์ เผยว่า เนื่องจากทุเรียนหลง-หลิน ลับแล เริ่มเป็นที่นิยมของผู้บริโภคไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรที่เริ่มปลูกทุเรียนจำนวนมาก ขาดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปลูก การดูแล
การนำระบบสารสนเทศเข้าไปจัดทำฐานข้อมูลผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ ทั้งพื้นที่ปลูก จำนวน ผลผลิต รวมถึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่ทำให้ผู้ซื้อได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสวนของทุเรียนที่ตนเองซื้อไป คือประเด็นวิจัยที่จะช่วยให้เกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ
นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยด้านระบบสารสนเทศเพื่อการพยากรณ์แจ้งเตือนภัยพิบัติ ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ณ เวลาปัจจุบัน มาผนวกกับระบบพิกัดภูมิศาสตร์ (ระบบแผนที่) รวมถึงข้อมูลการปลูกทุเรียนแต่ละพื้นที่ ทั้งหมดนี้ได้พัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะมีฝนตกในสวนทุเรียนของตนเองเท่าไหร่ หรือเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินเลื่อนจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันมากน้อยแค่ไหนผ่านมือถือแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันพิบัติภัยได้อีกด้วย
กลุ่มงานวิจัยนี้ จะทำงานร่วมกับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรในพื้นที่ เพื่อนำความรู้วิชาการสมัยใหม่เข้าไปหนุนเสริมชุดความรู้ของผู้ปลูกทุเรียนที่ประสบความสำเร็จสร้างเป็นสร้างชุดความรู้ใหม่ในการจัดการสวนทุเรียน และเพื่อให้ทุเรียนหลง – หลินลับแลได้มาตรฐาน มรภ.อุตรดิตถ์ ยังทำวิจัยด้านเทคนิคการหาระดับความสุกของผลทุเรียนจากยางที่ก้านทุเรียนเพื่อลดปัญหาตัดทุเรียนอ่อน พัฒนาช่องทางสื่อสารของผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายทุเรียน เพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของทุเรียน
รวมถึงทำวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานคุณภาพ และกลไกรับรองคุณภาพทุเรียนตั้งแต่สวนจนถึงแผงขาย ผ่านการใช้ “สติกเกอร์ผลิตภัณฑ์”ร่วมกับ QR Code เมื่อแสกนด้วยมือถือ จะรู้ได้ทันทีว่ามาจากสวนไหน เก็บวันที่เท่าไหร่ รวมถึงข้อมูลติดต่อเพื่อแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนหากทุเรียนที่ซื้อไปมีปัญหาอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาผลตอบแทนเชิงสังคม ที่ได้จากการทำสวนทุเรียนแบบวนเกษตรในอุตรดิตถ์ เปรียบเทียบกับการผลิตในระบบเชิงเดี่ยวแล้ว ยังเปรียบเทียบผลกระทบของการปลูกทุเรียนทั้งสองรูปแบบที่มีต่อระบบนิเวศ ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับสูง เพื่อให้การปลูกทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแล แบบวนเกษตรของที่นี่ สามารถสร้างเศรษฐกิจและชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรและคนอุตรดิตถ์ได้อย่างยั่งยืน
ดร.กิตติ กล่าวว่า นอกจากทุเรียนหลังลับแล-หลินลับแลแล้ว ในปีนี้มหาวิทยาลัยมีแนวทางที่จะขยายการวิจัยไปสู่พืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ลองกอง และพืชพื้นถิ่น เช่น กล้วย กาแฟ อีกด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ