เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ตามแผนปลายปี 63 จะเพิ่มเป็น 120 เตียง ต้นปี 65 เป็น 419เตียง เป้าอยู่ที่ 550 เตียง มุ่งเป็นรร.ผลิตแพทย์ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องชาวใต้ตอนบน
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เปิดให้บริการระยะแรก เพื่อให้บริการนักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไปอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.60 โดยให้บริการดูแลรักษา แผนกผู้ป่วยนอก โรคทั่วไป และคลินิกเฉพาะทางต่าง ๆ ประกอบด้วย คลินิกทั่วไป คลินิกตา คลินิกวัดสายตา คลินิกคอนแทคเลนส์ คลินิกเด็ก คลินิกรักษ์ใจ (คลินิกจิตเวช) คลินิกอายุรกรรม คลินิกโรคเรื้อรัง คลินิกโรคภูมิแพ้และหอบหืด คลินิกสูตินรีเวช คลินิกหู คอ จมูก คลินิกถันยเมตต์ (คลินิกเต้านม) คลินิกศัลยศาสตร์ คลินิกเวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 200 คน
ในขณะนี้รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการแผนกผู้ป่วยในแล้ว 16 เตียง แบ่งเป็น ชาย 8 เตียง หญิง 8 เตียง พร้อมขยายเวลาเปิดแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินจากเดิมเปิดถึง 20.00 น. เป็น24 ชั่วโมง ทั้งนี้ กรณีผู้ใช้สิทธิ์สำหรับผู้ป่วยใน ประกอบด้วย สิทธิ์องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถใช้สิทธิ์ได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง 30 บาท) ใช้ได้สำหรับนักศึกษาของม.วลัยลักษณ์ สิทธิ์รัฐวิสาหกิจสามารถขอใบส่งตัวจากหน่วยงานของตนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย ส่วนสิทธิ์ข้าราชการเบิกจ่ายตรงอยู่ระหว่างดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ พร้อมระบบสาธารณูปการ กำลังก่อสร้างบนพื้นที่ 405 ไร่ ประกอบด้วย อาคารอำนวยการ 1 หลัง อาคารปฏิบัติการทางการแพทย์ 3 หลัง อาคารพลังงาน 1 หลัง และกลุ่มอาคารที่พักบุคลากร 450 ยูนิต ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 80 % มีกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีนี้
ขณะเดียวกันได้ของบฯตกแต่งภายในและพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ 990 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพันปีงบฯ 63 – 64 และจัดทำคำของบฯติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เป็นงบผูกพัน ปี 63 – 64 อีก964 ล้านบาท ซึ่งปลายปี 63 จะเปิดให้บริการ 120 เตียง และต้นปี 65 จะเปิดให้บริการ 419 เตียง จากนั้นจะสร้างอาคารผู้ป่วยหลังที่ 4 เพิ่มเติม และจะรับผู้ป่วยได้ 550 เตียงต่อไป
“ในอนาคตรพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ จะเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยและก้าวหน้าที่สุดในภาคใต้ตอนบน เป็นโรงเรียนผลิตแพทย์ตอบสนองการขาดแคลนแพทย์ของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ระดับตติยภูมิสอดคล้องเท่าทันกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ของโลก รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยที่สลับซับซ้อน ลดภาระไม่ให้ต้องไปใช้บริการนอกพื้นที่อีกด้วย” ศ.ดร.สมบัติกล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ