ด้วยสมองและสองมือ
วิกฤติการณ์น้ำเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมนุษย์ต้องพึ่งพาน้ำในการดำรงชีวิต ยิ่งโลกก้าวรุดหน้าปัญหาจากการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือพัฒนา ก็ยิ่งซับซ้อนกระจายมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องเรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและวิธีการที่จะช่วยรักษาน้ำให้สะอาด ปลอดภัย มีใช้อย่างยั่งยืน โดยใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและรักษาทรัพยากรน้ำให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ด้วย
Stockholm Water Prize เป็นโครงการใหญ่ระดับโลกเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องของการขาดแคลนน้ำ และกระตุ้น ให้โลกรับรู้ถึงผลร้ายของการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวัง เป็นเวทีสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่ที่มีผลงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำด้วยการบำบัดน้ำ ขณะเดียวกันเพื่อขยายการสร้างความตระหนักมาสู่ระดับเด็กและเยาวชนในระดับโรงเรียน ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ รางวัล Junior Water Prize และจัดแข่งขันทุกปีที่ราชอาณาจักรสวีเดน
ประเทศไทย โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่คัดเลือกทีมเยาวชนไปร่วมประกวดด้วยทุกปีผ่านเวทีระดับชาติ “การประกวดนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ Thailand Junior Water Prize 2019” ซึ่งทีมที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปร่วมประกวด Stockholm Junior Water Prize 2019 ระหว่างวันที่ 25-30 ส.ค.นี้ ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน
จากผลงานนักเรียนที่ส่งเข้าร่วมประกวด Thailand Junior Water Prize 66 ชิ้นงานจากโรงเรียนทุกภาคของประเทศ ซึ่งแต่ละโรงเรียนทีมน้องๆ เยาวชนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการรักษาทรัพยากรน้ำเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาในชุมชนท้องถิ่นอย่างน่าจับตา เพราะสามารถพัฒนาความรู้ตามแนวสะเต็มศึกษา ซึ่งบูรณาการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี สร้างนักเรียนให้เก่ง คิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ
ปรากฎว่าปีนี้ทีมโรงเรียนที่ชนะเลิศการประกวด Thailand Junior Water Prize 2019 คือทีมโรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี ด้วยผลงานวิจัย “ศึกษายับยั้งการทำลายไคตินของเปลือกไข่ยุงลายชนิดรักษ์น้ำแทนการใช้สารเคมีจากทรายอะเบท” จากฝีมือของน.ส.ผลิดา ยงพิศาลภพ “น้องตาล” และน.ส.ศุภาพิชญ์ อ้งพันธุ์ “น้องฟ้า” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยมีอ.ธัญจิรา ทองมาก เป็นคุณครูที่ปรึกษา ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งลดสารปนเปื้อนจากการใช้ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำยุงขณะวางไข่บนน้ำ โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชในรูปแบบผงชนิดรักษ์น้ำ โดยศึกษาชนิดและความเข้มข้นของสารสกัดจากพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยเพื่อยับยั้งการทำลายไคตินของเปลือกไข่ยุงลาย
น.ส.ผลิดา หรือ น้องตาล เผยถึงเหตุผลที่เลือกทำโครงงานนี้ เพราะเห็นว่า มีการทรายอะเบทใช้กันอย่างแพร่หลาย และส่วนมากไม่ได้คำนึงถึงสารตกค้าง หรือสารปนเปื้อนในน้ำ แม้ว่าจากการที่ศึกษามาแล้วพบว่าสารเคมีในทรายอะเบทมีน้อย และส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งคนด้วยน้อย แต่ในระยะยาว ไม่มีใครทราบว่าทรายอะเบทจะไปก่อสารพิษหรือผลกระทบในร่างกายของเรามากน้อยแค่ไหน
ดังนั้น จึงต้องการนำสารสกัดจากธรรมชาติที่มีผลดีทั้งต่อสภาพแวดล้อม และต่อตัวเรา มาพัฒนาและยับยั้งการทำลายไคตินของ เปลือกไข่ยุงลายเพื่อไม่ให้ยุงลายได้ฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อน และสามารถนำไปอนุรักษ์น้ำได้ คือไปลดค่าสารเคมีในน้ำ ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้นได้
ส่วนน.ส.ศุภาพิชญ์ หรือน้องฟ้า เสริมถึงแนวทางต่อยอดผลงานชิ้นนี้ ซึ่งยังอยู่ในรูปแบบของผง ว่าอาจจะใช้ยากไม่สะดวกต่อการใช้งานมากนัก หากนำไปพัฒนาหรือปรับปรุงผลงานดังกล่าว อยากจะทำให้บรรจุภัณฑ์ใช้ได้ง่าย ตอนนี้ที่ในส่วนของความคิดคือ จะพัฒนาเป็นคล้ายถุงบรรจุชา เพราะโดยปกติเวลาเราดื่มชาก็จะนำถุงชา ไปหย่อนในน้ำร้อน เมื่อได้สีชาตามที่ต้องการจึงยกถุงชาขึ้น อาจทำแบบเป็นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์เป็นแพคเกจ สามารถนำไปใส่ในน้ำและเก็บรักษาง่ายอีกด้วย
นอกจากสามารถยับยั้งไม่ให้มียุงลาย ทำให้คนไม่เป็นโรคไข้เลือดออก ยังมีประโยชน์ด้านการรักษ์น้ำไม่มียาฆ่าแมลงหรือเป็นสารเคมีในน้ำ เพราะแม้ว่าน้ำจะมีมากในโลกของเรา แต่ก็เริ่มเน่าเสียมากขึ้น จึงอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของโครงการนี้ในการช่วยบำบัดน้ำให้ดีขึ้นจากสารเคมีต่างๆ หรือยาฆ่าแมลง เพื่ออนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน
ร่วมส่งกำลังใจให้ทีมเยาวชนไทยแสดงความสามารถบนเวทีประกวด Stockholm Junior Water Prize 2019 ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ได้ในเดือนส.ค.นี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ