ในแต่ละปีมีผู้พิการถึงขั้นทุพลภาพสูงถึง 5,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้จำเป็นต้องใช้รถเข็นหรือวีลแชร์เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
แต่ก็ยังมีปัญหาบางอย่างในการดูแลกลุ่มผู้นั่งเก้าอี้รถเข็นที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากการลื่นล้ม อาทิ การสระผมที่จะต้องลุกจากเก้าอี้รถเข็นไปนอนบนเตียงสระ
เพื่อรองรับสถานการณ์และแก้ไขปัญหากลุ่มเยาวชนนักประดิษฐ์จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานี จ.สุราษฏร์ธานี จึงคิดค้นประดิษฐ์อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการและสามารถแก้ปัญหาด้านสุขภาวะของชุมชนได้ เป็นอย่างดี จนสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอาชีวะศึกษา จากการประกวดนวัตกรรมนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ที่ต้องการบ่มเพาะ “เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสร้างเสริมสุขภาพ
สำหรับ “อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น” ที่ได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอาชีวะศึกษา เป็นฝีมือการคิด ออกแบบ และพัฒนาของนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานี ที่ประกอบไปด้วย นายคุณัชญ์พงษ์ เชาว์แล่น, นายสรวิศ สิกธรรม นักศึกษาชั้น ปวช.ปี 3 และ นายวัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ นักศึกษาชั้น ปวช.ปี 1
นายสรวิศ สิกธรรม เล่าถึงแนวความคิดในการประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า ปัญหาหนึ่งที่ประสบกับคนภายในครอบครัวตนเอง โดยมีคุณอาพิการนั่งรถเข็นน้ำหนักตัวกว่า 70 กิโลกรัม เวลาสระผมจะต้องเคลื่อนย้ายจากเก้าอี้รถเข็นไปเตียง ขณะที่ผู้ดูแลเพียงคนเดียวยกผู้ป่วยไม่ไหว การดูแลค่อนข้างลำบาก
นายวัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบเน้นการนำไปใช้ได้จริง สะดวก พับเก็บง่าย เคลื่อนย้ายสะดวกนำไปใช้งานได้ในหลายพื้นที่โดยมีล้อที่ฐานสามารถพับเก็บได้ง่าย การใช้งานเราสามารถเข็นรถวีลแชร์เข้าสู่อุปกรณ์เพื่อทำการสระผมได้โดยที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุออกจากรถเข็นเลย
สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีขนาดน้ำหนักตัวสูงถึง 120 กิโลกรัม โดยการออกแบบมอเตอร์แกนชักให้สามารถเลื่อนและเอียงทำมุม 45 องศา จึงทำให้น้ำหนักตัวรวมรถเข็นเบาขึ้นและศีรษะผู้ป่วยยังพอดีกับถาดสำหรับสระผมทำให้เวลาสระผมน้ำไม่ไหลย้อนกลับมาเปียกตัวผู้ป่วย
นายคุณัชญ์พงษ์ เชาว์แล่น กล่าวอีกว่า ได้ทดลองนำไปใช้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องใช้รถเข็นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางกุ้ง ผลตอบรับดีมาก ดีใจที่ผลงานชิ้นนี้ตอบโจทย์และสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะการช่วยลดอัตราเสี่ยงต่ออันตรายจากการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยลงจากเก้าอี้รถเข็น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ