วางแนวทางแก้ปัญหา 3 สเต็ป ระยะสั้น-กลาง-ยาว พร้อมออกแบบป้ายรถเมล์เตือนภัยฝุ่นในเมือง ติดเซนเซอร์ตรวจจับ พร้อมพัดลมจะเปิดอัตโนมัติช่วยระบาย ทั้งต่อยอดเป็นสมาร์ท บัสสต็อปได้
ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองพิษขนาดเล็กPM 2.5ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนที่อาศัยในเขตเมืองใหญ่ของประเทศ เช่น กทม. เชียงใหม่ และขอนแก่น แต่สาเหตุของการเกิดปัญหาแต่ละพื้นที่แตกต่างกันจากรูปแบบการพัฒนาเมืองและวิถีชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกทม.เป็นผลมาจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และการก่อสร้างสาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์พร้อมกันหลายโครงการ ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มทารก เด็ก และเยาวชน
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คือ ลดก่อฝุ่นในเขตพื้นที่มีมลพิษ เช่น ใช้ตาข่ายกันพื้นที่ก่อสร้างเพื่อดักจับฝุ่นละอองในโครงการก่อสร้าง , ลดใช้ยานพาหนะก่อฝุ่น ตรวจสภาพเครื่องยนต์ขนส่งสาธารณะและยานพาหนะอื่นๆ ให้มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ภาครัฐควรใช้ระบบเช่ารถมากกว่จัดซื้อ เนื่องจากคุ้มค่ากว่า และปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง เป็นการแก้ปัญหาระยะกลาง
ภาษีฝุ่นหยุดมลพิษ ใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมจูงใจผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อลดก่อมลพิษ ซึ่งไทยอยู่ในขั้นตอนเสนอมาตรการเรียกเก็บภาษีมลพิษและจะบังคับใช้ในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลควรวางแผนแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเชิงรุกระยะยาว และไม่ผลักภาระต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพไปให้ประชาชน เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว
รศ. ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผอ.สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SciRA) กล่าวว่า สำนักฯได้ออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสามารถเฝ้าระวังจุดเสี่ยงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่จราจรแออัด สำหรับการก่อสร้างป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กจะประยุกต์จากจุดรอรถเมล์ที่มีอยู่โดยติดเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละอองและพัดลม เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หากเซ็นเซอร์ตรวจจับแจ้งว่าปริมาณฝุ่นPM 2.5 บริเวณนั้นมีสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ระบบพัดลมจะทำงานอัตโนมัติ พร้อมติดป้ายแจ้งเตือนบอกคุณภาพอากาศโดยรวมของกทม.
ทั้งนี้ ป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถพัฒนาและปรับปรุงต่อเพื่อให้เป็นสมาร์ท บัส สตอป (Smart Bus Stop) เช่น มีฟังก์ชั่นเรียกรถพยาบาลหรือตำรวจ จอป้ายแจ้งเตือนที่มีปฏิสัมพันธ์กับคน (Interactive Panels) เป็นต้น ซึ่งสำนักวิจัยฯได้พัฒนานวัตกรรมสมาร์ท ซิตี้ อื่นๆ ในการแก้ปัญหาสังคมเมือง เช่น พัฒนาเอไอ (AI) ช่วยในการแก้ไขปัญหาจราจรแบบเรียลไทม์ บิ๊กเดต้า (Big Data) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในกทม. การสร้างแก้มลิงใต้ดินสำหรับรองรับน้ำท่วมกทม. เป็นต้น
สำหรับโรดแมปการคาดการณ์วิกฤติฝุ่นในรอบปี 62 – 63 สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองฯได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมติดตามข้อมูลมลพิษทางอากาศและวางแผนการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยทีมอาสาสมัครสม็อคแมน (SMOG Man) เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบเรียลไทม์เฉพาะจุด รวมทั้ง พัฒนาระบบตรวจวัดฝุ่นละอองในแต่ละที่ตั้งเป้านำร่องสถานศึกษาทั่วกทม. โดยเขตลาดกระบังจะเป็นพื้นที่แรกในการเก็บสถิติเพื่อคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองภายในเดือน ก.ค.562 ซึ่งแนวโน้มปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ในอนาคตจะได้รับการรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านเฟซบุ๊ค SCiRA KMITL ด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศแบบเฉพาะจุดที่จะเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ